Abstract:
การวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการใช้ E-mail เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนภาษาอังกฤษ และเพื่อศึกษาทัศนคติที่มีต่อการใช้ E-mail เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนภาษาอังกฤษของนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี โดยกลุ่มประชากรเป็นนิสิตภาคปกติ วิชาเอกและวิชาโทภาษาอังกฤษ ที่ลงทะเบียนเรียนวิชา 212221 ไวยากรณ์และการเขียน (Structure) หลักสูตรปริญญาตรีของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ปีการศึกษา 2543 จำนวน 67 คน
ในการดำเนินการวิจัยเพื่อศึกษาการใช้ E-mail เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนภาษาอังกฤษ ผู้วิจัยได้สร้างแบบทดสอบ Post Test เพื่อทดสอบการเขียนภาษาอังกฤษด้านโครงสร้างประโยคพื้นฐาน องค์ประกอบของประโยค การเขียนประโยคและข้อความสั้นๆเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆและการใช้เครื่องหมายวรรคตอน ของกลุ่มประชากรก่อนและหลังการใช้
E-mail เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนภาษาอังกฤษ โดยนำแบบทดสอบทั้ง 2 ชุด ไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง และนำมาหาค่าความยากง่าย และค่าอำนาจจำแนก จากนั้นจึงนำไปเก็บข้อมูลจากกลุ่มประชากรทั้ง 67 คน
ในระหว่างการใช้ E-mail เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนภาษาอังกฤษ นิสิตต้องเขียน
E-mail ติดต่อกับเจ้าของภาษาเป็นเวลา 8 สัปดาห์ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แล้วส่งสำเนาให้ผู้วิจัย ผู้วิจัยจะบันทึกจำนวนครั้งที่การติดต่อทาง E-mail ประสบความสำเร็จ รวมทั้งรวบรวมข้อความที่นิสิตใช้ติดต่อทาง E-mail ด้วย จากนั้น นำข้อมูลจากแบบทดสอบวิเคราะห์ สถิติที่ใช้คือ ค่าคะแนนเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t-test)
ส่วนการดำเนินการวิจัยเพื่อศึกษาทัศนคติที่มีต่อการใช้ E-mail เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนภาษาอังกฤษนั้น ผู้วิจัยได้สร้างแบบสอบถาม นำไปทดลอง
ใช้กับกลุ่มตัวอย่าง แล้วนำไปเก็บข้อมูลจากกลุ่มประชากรจำนวน 67 คน ได้รับแบบสอบถามคืน 64 ชุด คิดเป็นร้อยละ 95.52 จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์
สถิติที่ใช้คือค่าร้อยละ
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. จากการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเขียนภาษาอังกฤษก่อนและหลังการใช้ E-mail เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนภาษาอังกฤษ
ปรากฎว่านิสิตมีผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเขียนภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
2. จากการศึกษาทัศนคติที่มีต่อการใช้ E-mail เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนภาษาอังกฤษ ปรากฎว่านิสิตมีทัสนคติที่ดีต่อการใช้ E-mail เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนภาษาอังกฤษ เนื่องจากเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว สามารถนำความรู้ที่เรียนไปใช้ติดต่อสื่อสารได้ทันที ทำให้ชอบการเขียนมากขึ้น ทำให้การเรียนไวยากรณ์และการเขียนไม่น่าเบื่อ นอกจากนี้ยังไรับความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม คำศัพท์ และสำนวนมากขึ้น