Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวิธีดำเนินการวิจัยแบบประสานวิธีระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพกับการวิจัยเชิงปริมาณ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการข้อมูลให้เป็นสารสนเทศการเกษตรเพื่อส่งต่อสู่เกษตรกร และศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการสารสนเทศการเกษตร พร้อมหาแนวทางการพัฒนา รูปแบบการจัดการสารสนเทศเพื่อส่งต่อสู่เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ สำหรับการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการสารสนเทศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 5 คน เพื่อศึกษารูปแบบปัจจุบัน และรูปแบบที่พึงประสงค์ของการพัฒนาข้อมูลให้เป็นสารสนเทศการเกษตร สำหรับการวิจัยเชิงทดลองเพื่อทดสอบการรับสารสนเทศการเกษตร โดยการรวบรวมข้อมูล การเกษตรเป็นรายสัปดาห์จากทุกภาคส่วน นำมาประมวลโดยผ่านกระบวนการวิเคราะห์สังเคราะห์ให้เป็นสารสนเทศการเกษตร 6 ประการและส่งต่อให้เกษตรกรกลุ่มตัวอย่างที่ประกอบอาชีพเพาะปลูกข้าว 3 ภูมิภาค 3 จังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวสูงสุด จำนวน 120 คน หลังจากนั้นดำเนินการประเมินการนำไปใช้ประโยชน์ซึ่งแบ่งช่วงการประเมิน 3 สัปดาห์ ประเมิน 1 ครั้งรวมระยะเวลาการทดลองรับสารสนเทศการเกษตร 3 เดือน และประเมินการนำไปใช้ประโยชน์รวม 4 ครั้ง สำหรับการสนทนากลุ่มเพื่อยืนยันรูปแบบและการใช้ประโยชน์จากสารสนเทศการเกษตรที่ได้รับ จำนวน 9 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย คำถามการสัมภาษณ์ คำถามการสนทนากลุ่ม และแบบประเมินการใช้ประโยชน์การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรม SPSS ในการวิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐาน ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการจัดการสารสนเทศการเกษตรสู่เกษตรกรควรมีการดำเนินการผ่านศูนย์ประมวลข้อมูลการเกษตรที่ทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลการเกษตรเพื่อนำมาผ่านกระบวนการวิเคราะห์ สังเคราะห์ให้เป็นสารสนเทศการเกษตรก่อนส่งถึงเกษตรกรโดยผลการทดลองนำรูปแบบการจัดการสารสนเทศการเกษตรส่งต่อให้เกษตรกรกลุ่มตัวอย่างที่ประกอบอาชีพเพาะปลูกข้าวพร้อม ดำเนินการประเมินการนำสารสนเทศไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ จากสารสนเทศเทศทั้ง 6 ประการ ได้แก่ 1) สภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการเพาะปลูก 2) นโยบายภาครัฐ 3) สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจสังคมการเกษตร 4) ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้า 5) กระบวนการเพาะปลูกและการเพิ่มมูลค่า ผลผลิตทางการเกษตรและ 6) สารสนเทศที่เกี่ยวกับการสนับสนุนจากสถาบันและองค์การที่เกี่ยวข้องโดยการประเมินทั้ง 4 ครั้งผลประเมินการใช้ประโยชน์มีแนวโน้มที่สูงขึ้น โดยมีการประเมินการนำสารสนเทศไปใช้ประโยชน์ได้ระดับมากและมากที่สุด พร้อมทั้งมีการยืนยันรูปแบบการจัดการสารสนเทศการเกษตรโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสารสนเทศการเกษตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา ระบบสื่อสารดิจิทัล และเกษตรกรที่ทดลองรับสารสนเทศการเกษตร โดยแนวทางการพัฒนาเพื่อนำไปใช้สามารถนำรูปแบบการจัดการสารสนเทศการเกษตรเพื่อกำหนดนโยบายในการจัดตั้งศูนย์ประมวลข้อมูลการเกษตรกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ต่อไป