Abstract:
งานนิพนธ์ฉบับนี้ได้ศึกษาถึงมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดด้วยวิธีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการค้าตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาด และการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 เพื่อป้องกันการนําสินค้าทุ่มตลาดเข้ามาขายในลักษณะเพื่อการทําลายอุตสาหกรรมภายในประเทศ และทําให้ผู้ผลิตสินค้าประสบปัญหาขาดทุนและล้มเลิกกิจการ ซึ่งส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศไทยและยังเป็นการกระทําที่ไม่เป็น ธรรมในทางการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย จากการศึกษาพบว่าเมื่อเกิดการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดแล้วพระราชบัญญัติ การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 ยังไม่มีกฎหมายเพื่อการขยายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดไปยังสินค้าที่หลีกเลี่ยงการเสียอากรทุ่มตลาดด้วยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการค้า กล่าวคือการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของสินค้าเพียงเล็กน้อยเพื่อให้อัตราศุลกากร เปลี่ยนแปลงไปและนําเข้าสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าต่างชนิดกันกับสินค้าที่ต้องเสียอากรทุ่มตลาด แต่ในความเป็นจริงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่มีผลต่อคุณสมบัติของสินค้านั้นและยังนําไปขายในราคาทุ่มตลาดในอุตสาหกรรมเดิม นอกจากนี้ยังพบว่านอกจากการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของสินค้าแล้วยังพบว่า การเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการค้าเพื่อหลบเลี่ยงอากรทุ่มตลาดยังใช้วิธีการส่งไปยังประเทศอื่นก่อนนําเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากเมื่อประกาศมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดแล้วจะต้องระบุชื่อประเทศต้นทางของสินค้านําเข้าไว้ในบังคับของมาตรการดังกล่าว การเปลี่ยนประเทศต้นทางที่ส่งออกสินค้าจึงทําให้สินค้านั้นไม่อยู่ในขอบเขตของสินค้าที่ต้องเสียอากรทุ่มตลาด ทั้งนี้ผู้วิจัยได้ศึกษาเปรียบเทียบกับสหภาพยุโรปซึ่งได้ประสบปัญหาดังกล่าวและได้บัญญัติกฎหมายเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดไว้แล้ว ผู้วิจัยจึงเสนอแนะให้พระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 โดยเพิ่มบทบัญญัติมาตรา มาตรา 71/2 และมาตรา 71/3 ตามร่าง พระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... มาตรา 15 ซึ่งกําหนดให้การกระทําดังกล่าวถือเป็นการกระทําเพื่อเป็นการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและให้ขยายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเพื่อใช้บังคับแก่กรณีนั้น