Abstract:
ดุษฎีนิพนธ์มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ ปรากฏการณ์ของทะเลสาบสงขลาในมุมมองทางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และมุมมองทางศิลปะในขอบข่ายงานจิตรกรรม และนำผลการวิเคราะห์ ประกอบด้วยปัจจัยด้านมิติธรรมชาติ มิติมนุษย์ และมิติวัฒนธรรม ที่ส่งผลถึงการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมจากผลงานจิตรกรรมตะวันตก และตะวันออก มาสังเคราะห์เป็นข้อมูล เพื่อสร้างสรรค์ผลงานภาพจิตรกรรม สะท้อนอัตลักษณ์วัฒนธรรมทางการเห็น ผลการวิจัยพบว่า 1. ปรากฏการณ์ของทะเลสาบสงขลาในมุมมองทางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม มีลักษณะ วัฒนธรรม 3 ลุ่มน้ำ คือ ส่วนตอนบนเป็นน้ำจืด ตอนกลางเป็นน้ำกร่อย และตอนล่างเป็นน้ำเค็ม ซึ่งเป็นผลพวงมาจาก นิเวศสิ่งแวดล้อม ที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์ในรูปแบบพหุศิลปวัฒนธรรม 2. ปัจจัยด้านมิติธรรมชาติ มิติมนุษย์ และมิติวัฒนธรรม ได้ส่งผลต่อการสร้างสรรค์งานจิตรกรรม ทั้งตะวันตก และตะวันออก โดย 3 มิติดังกล่าว แสดงถึงเนื้อหาสาระในภาพจิตรกรรม 3. การสังเคราะห์ข้อมูลแสดงถึงแบบอย่างทางศิลปะมาจาก 2 แนวทาง แนวทางแรกเป็นแบบภววิสัยในแบบอย่างธรรมชาตินิยม โดยภาพแสดงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีอิทธิพล อยู่เหนือมิติมนุษย์ มิติวัฒนธรรม และแบบอย่างสัจนิยม ที่มีมิติมนุษย์เป็นผู้สร้างวัฒนธรรมภายใต้มิติธรรมชาติ แนวทางถัดมาเป็นแบบอัตวิสัย ในแบบอย่างจินตนิยม ภาพจิตรกรรมมีการสื่อสาร อารมณ์ พลังของปรากฏการณ์ธรรมชาติ และแบบอย่างอุดมคตินิยมกับแบบอย่างประเพณีพื้นถิ่น ภาคใต้ นิยมสร้าง รูปแบบความงามที่มีความดีและศีลธรรมเป็นเป้าหมาย ผู้วิจัยนำผลการสังเคราะห์ข้อมูลมาสร้างองค์ความรู้ด้วยการปฏิบัติสร้างสรรค์ ทดลองขยับ ปรับเปลี่ยน ผสมผสาน และการแก้ไขปัญหาของรูปความหมายทางสุนทรียะ เพื่อแสดงอัตลักษณ์ วัฒนธรรมทางการเห็นในบริบทใหม่