Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงประวัติความเป็นมา อัตลักษณ์ และรูปแบบของหุ่นกาเหล้ วิเคราะห์เปรียบเทียบรูปแบบของหุ่นกาเหล้กับหุ่นไทย และหุ่นในประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างสรรค์หุ่นในมิติของวัฒนธรรมบาบ๋า เพอรานากัน จากพหุวัฒนธรรม “วัฒนธรรมลูกผสม” ผลจากการวิจัยพบว่า หุ่นกาเหล้ในจังหวัดภูเก็ตสามารถแบ่งได้เป็น 2 ยุค คือ หุ่นในยุคแรกเป็นหุ่นที่นํามาจากประเทศจีน ใช้แสดงประกอบพิธีกรรมการแก้บน รวมทั้งแสดงในงานพิธีมงคลสําคัญต่าง ๆ ของชาวจีนบาบ๋า จังหวัดภูเก็ต ส่วนหุ่นในยุคหลังนั้นเป็นหุ่นที่มีการประดิษฐ์ขึ้น โดยได้หุ่นในยุคแรกเป็นต้นแบบ ซึ่งสร้างขึ้นโดยช่างฝีมือพื้นบ้านชาวภูเก็ต อัตลักษณ์ของหุ่น กาเหล้ คือ มีลักษณะเป็นหุ่นสายชักเชิดแบบจีน ประกอบด้วย หุ่น 3 ตัว ได้แก่ หุ่นเตี๋ยนหู้หง่วนโส่ย เป็นเทพเจ้าสําคัญของชาวจีน มีเอกลักษณ์ คือ มีใบหน้าสีแดง และผมเปีย หุ่นจอหงวน และหุ่นฮูหยิน ซึ่งเป็นภรรยาของจอหงวน ซึ่งเมื่อได้วิเคราะห์เปรียบเทียบหุ่นกาเหล้กับหุ่นไทย และหุ่นในประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าหุ่นกาเหล้มีรูปแบบเป็นหุ่นสายชักเชิดใกล้เคียงกับหุ่นสายไทย คณะเสมา กรุงเทพฯ และหุ่นยกเตปวย ประเทศพม่า แต่รายละเอียด และส่วนประกอบปลีกย่อย อื่น ๆ อาจจะมีความแตกต่างกัน ผู้วิจัยได้นําผลจากการศึกษามาเป็นแนวทางในการออกแบบสร้างสรรค์ โดยได้นําอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมบาบ๋า ภูเก็ต ได้แก่ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ และลวดลายจากสถาปัตยกรรมมาเป็นส่วนประกอบในการสร้างสรรค์หุ่นในมิติของวัฒนธรรมบาบ๋า เพอรานากัน