Abstract:
งานวิจัยเรื่อง ความสําคัญและบทบาทของกลองปู่จาในบริบทพื้นที่วัดเจดีย์ซาวหลัง จังหวัดลําปางมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวัฒนธรรมกลองปู่จา ภูมิสังคมวิถีชีวิตวัฒนธรรม ภูมิสถานของวัดเจดีย์ซาวหลังจังหวัดลําปางและบริบทที่เกี่ยวข้อง บทบาทและความสําคัญของกลองปู่จา และศึกษาองค์ความรู้กลองปู่จาและกิจกรรมสืบเนื่องของพิพิธภัณฑ์โฮงก๋อง เขลางค์นคร โดยมี กรอบแนวคิดระเบียบวิธีวิจัย คือ การจัดการมรดกทางวัฒนธรรมอย่างมีคุณภาพของกรมศิลปกร การจัดเก็บข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม หลักการจัดเก็บดนตรี ดั้งเดิมหายากและการพัฒนาของนารา ดอกคูเม็นท์ การสื่อความหมายผ่านพิพิธภัณฑสถานของสภาพิพิธภัณฑสถานนานาชาติเพื่อนําไปพัฒนากรอบแนวคิดในงานภาคสนามมาเรียบเรียงขึ้นเป็นงานวิจัยครั้งนี้ ผลการวิจัยพบว่า กลองปู่จามีส่วนสําคัญที่โยงใยกับภูมิสังคมวิถีชีวิตวัฒนธรรมในภูมิสถานของวัดทั่วไปรวมทั้งบริบทพื้นที่วัดเจดีย์ซาวหลัง จังหวัดลําปาง ได้แก่ ตํานานพุทธศาสนา พระเจดีย์ทั้งยี่สิบหลังและพิพิธภัณฑ์ของวัดเจดีย์ซาวหลังซึ่งเกี่ยวข้องกับประวัติเรื่องเล่า พระแส้ (สแว่) ทองคํา ลําดับพระเจ้าอาวาส โดยเฉพาะพระราชจินดานายก ท่านมีความรู้และเล็งเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์องค์ความรู้กลองปู่จาผ่านพิพิธภัณฑ์โฮงก๋องปู่จา เขลางค์นคร ผู้วิจัยได้จัดทําประวัติ และพัฒนาการของวัดเจดีย์ซาวหลังและเรียบเรียงองค์ความรู้กลองปู่จา ได้แก่ พิธีกรรมการตัดไม้ การนําไม้ออกจากป่า กระบวนการสร้างกลองปู่จา การบรรจุหัวใจกลองปู่จาและพิธีกรรมการตีกลองปู่จาในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งทางวัดได้ฟื้นฟูให้กลับมามีบทบาทสําคัญในวันธรรมสวนะ พิธีกรรม ประเพณีต่าง ๆ ของวัดและชาวบ้าน ทั้งยังได้ศึกษารวบรวมการจัดกิจกรรมสืบเนื่องให้ยุวชนเรียนรู้ อบรมถ่ายทอดในวัดเป็นประจําปี การพัฒนารูปแบบการตีกลองปู่จา รูปร่าง การตี ขนาดและวัสดุ ก่อให้เกิดการเข้ามาพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมขององค์กร โครงการค่ายเยาวชนอนุรักษ์ประเพณีตีก๋องปู่จา นครลําปาง นับตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ส่งผลให้เกิดการอนุรักษ์สืบทอดเพื่อดํารงอยู่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมแก่ชนรุ่นหลัง จวบจนปัจจุบันได้มีการพัฒนาไปสู่ระดับกลองนานาชาติ ครั้งที่ 1 ณ จังหวัดลําปางอันเป็นต้นแบบการอนุรักษ์พัฒนาที่ยั่งยืนแห่งหนึ่งของประเทศไทย