Abstract:
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องมีการดูแลตนเองต่อเนื่องอย่างเหมาะสม การเสริมสร้างพลังอำนาจเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กป่วยมีการรับรู้สมรรถนะในการดูแลตนเองเพิ่มขึ้น การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มวัดผลก่อนและหลัง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมเสริมสร้างพลังอำนาจต่อการรับรู้สมรรถนะในการดูแลตนเองของเด็กวัยเรียนโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด กลุ่มตัวอย่าง คือ เด็กวัยเรียน โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ได้รับยาเคมีบำบัดที่หอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลชลบุรีระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 จำนวน 34 รายแบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 17 ราย กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลปกติกลุ่มทดลองได้รับทั้งการดูแลปกติและได้รับโปรแกรมเสริมสร้างพลังอำนาจที่พัฒนาจากแนวคิดของ Gibson (1995) ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ 1) การค้นพบสถานการณ์จริง 2) การสะท้อนความคิดอย่างมีวิจารณญาณ 3) การตัดสินใจเลือกการปฏิบัติที่เหมาะสม และ 4) ความคงไว้ซึ่งการปฏิบัติ เครื่องมือรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามการรับรู้สมรรถนะในการดูแลตนเอง มีค่าความเชื่อมั่นของครอนบาคแอลฟาเท่ากับ 0.88 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา independent t-test และ paired t-test ผลการวิจัยพบว่า หลังทดลองกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยการรับรู้สมรรถนะในการดูแลตนเองสูงกว่าก่อนการทดลอง (t 16 = 7.785, p < .001) และสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t 17.64 = 7.30, p< .001) จากผลการวิจัยเสนอแนะว่า พยาบาลควรประยุกต์ใช้โปรแกรมเสริมสร้างพลงอำนาจไปใช้ในเด็กวัยเรียนที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เพื่อให้เด็กมีการรับรู้สมรรถนะในการดูแลตนเองนำไปสู่การดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม