Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบกิจกรรมการทดลองมองคำภาษาไทยที่เร้าอารมณ์ ด้านความประทับใจในผู้ใหญ่ตอนต้น ศึกษาอารมณ์ด้านความประทับใจในเชิงพฤติกรรม คลื่นไฟฟ้าสมอง และเครือข่ายการเชื่อมโยงการทำงานของสมอง ขณะมองคำภาษาไทยที่เร้าอารมณ์ด้านความประทับใจ จำแนกตามเพศและบุคลิกภาพ กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยบูรพา ปีการศึกษา 2560 จำนวน 80 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย กิจกรรมการทดลองมองคำภาษาไทยที่เร้าอารมณ์ด้านความประทับใจ มาตรวัดอารมณ์ความรู้สึกด้านความประทับใจ และเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ Two-way ANOVA ผลการวิจัยปรากฏว่า 1. กิจกรรมการทดลองมองคำภาษาไทยที่เร้าอารมณ์ด้านความประทับใจในผู้ใหญ่ตอนต้น ประกอบด้วย กิจกรรม 2 ชุด ชุดละ 30 สิ่งเร้า สิ่งเร้าละ 1.5 วินาที จำแนกตามลักษณะอารมณ์ คือ ลักษณะพึงพอใจและลักษณะไม่พึงพอใจ 2. ผู้ใหญ่ตอนต้นเพศชายมีอารมณ์ด้านความประทับใจ ลักษณะไม่พึงพอใจน้อยกว่าเพศหญิง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนบุคลิกภาพต่างกัน ไม่แตกต่างกัน และ ไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพศกับบุคลิกภาพ ขณะมองคำภาษาไทยที่เร้าอารมณ์ด้านความประทับใจ ลักษณะพึงพอใจและลักษณะ ไม่พึงพอใจ 3. คลื่นไฟฟ้าสมองของผู้ใหญ่ตอนต้นขณะมองคำภาษาไทยด้านความประทับใจ ลักษณะ พึงพอใจ และลักษณะไม่พึงพอใจ ระหว่างเพศชายกับเพศหญิงแตกต่างกันบริเวณเปลือกสมองส่วนหน้า (Frontal Lobe) ที่ตำแหน่ง FP1 FP2 F7 FZ F8 FT8 F3 FZ F4 และ F8 บริเวณเปลือกสมองสวนกลาง (Central lobe) ที่ตำแหน่ง C3 C4 CZ CP4 C2 และCP3 บริเวณเปลือกสมองด้านข้าง (Parietal Lobe) ที่ตำแหน่ง CP3 CP4 P3 P8 P7 PZ และP4 บริเวณเปลือกสมองส่วนขมับ (Temporal lobe) ที่ตำแหน่ง T7 T8 TP7 และTP8 และบริเวณเปลือกสมองท้ายทอย (Occipital lobe) ที่ตำแหน่ง O2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4. เครือข่ายการเชื่อมโยงการทำงานของสมองในผู้ใหญ่ตอนต้น ขณะมองคำภาษาไทยที่เร้าอารมณ์ด้านความประทับใจ ลักษณะพึงพอใจ เพศหญิงมีความหนาแน่นของเครือข่ายมากกว่าเพศชาย การเชื่อมโยงระหว่างโหนดยาวกว่า และมีประสิทธิภาพเครือข่ายน้อยกว่าเพศชาย ลักษณะไม่พึงพอใจ เพศหญิงมีความหนาแน่นของเครือข่ายน้อยกว่าเพศชาย การเชื่อมโยงระหว่างโหนดสั้นกว่า และมีประสิทธิภาพเครือข่ายน้อยกว่าเพศชาย