Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและผลกระทบที่มีต่อการศึกษาของไทยในต้นศตวรรษที่ 21 (พ.ศ. 2543-2553) เป็นกรณีศึกษาเฉพาะภูมิภาคตะวันออกของไทย วิธีการวิจัยประกอบด้วยการวิเคราะห์เอกสาร เกี่ยวกับบริบททางการศึกษา การสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ 10 ท่านเพิ่มเติมและการใช้แบบสอบถามทรรศนะของผู้เชี่ยวชาญ 30 ท่าน 3 รอบ ตามเทคนิคเดลฟาย การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามนำมาคำนวณหาค่ามัธยฐาน ฐานนิยม และพิสัยระหว่างควอไทล์ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้1. แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในศตวรรษที่ 21 พบว่า จะมีการปฏิรูปการเมือง การปกครอง และการบริหาร โดยมีการกระจายอำนาจออกสู่ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นมากขึ้น จะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อเป็นกลไกให้การเมืองมีความชอบธรรมมากขึ้น ภูมิภาคและท้องถิ่นจะมีองค์กรทำหน้าที่ตรวจสอบและดูแลกันเองมากขึ้น เศรษฐกิจจะเป็นระบบอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร การท่องเที่ยวและการบริการขยายตัวออกไปในภูมิภาคมากขึ้น สภาพสังคมจะกลายเป็นสังคมเมืองและสังคมอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่วัฒนธรรมจะมีการผสมผสานกัน และนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้มากขึ้น อัตราการเพิ่มของประชากรโดยการเกิดจะลดลง แต่การย้ายถิ่นฐานจะเพิ่มขึ้นพร้อมกับปัญหาคุณภาพชีวิตจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะความเครียดจากการดำเนินชีวิตที่ต้องแข่งขันกันสูง จริยธรรมในสังคมเมืองจะลดลง ปัญหาสังคมจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและการจราจร ส่วนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นโยบายด้านนี้ในส่วนของการได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจมีแนวโน้มการให้ความช่วยเหลือแบบเงินกู้จะมีมากกว่าเงินให้เปล่า จะมีความร่วมมือกันทางวิชาการมากขึ้นประเทศที่มีการติดต่อกันจะมีมากขึ้น รวมทั้งจะมีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศในภูมิภาคอุษาคเนย์ด้วยกันเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ เป็นฐานอำนาจต่อรองกับภูมิภาคอื่น2.ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะส่งผลต่อการศึกษาในทุกระดับ ซึ่งจะมีการปฏิรูปการศึกษา มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหาร การจัดหลักสูตร แบบเรียน การเรียนการสอน การวัดและประเมินผล ตลอดจนส่งเสริมความก้าวหน้าและพัฒนาวิชาชีพครูให้สูงขึ้น แนวโน้มพบว่า การจัดการศึกษาทุกระดับชั้นในภูมิภาคนั้นท้องถิ่นจะมีส่วนร่วมมากขึ้น และบรรจุเรื่องราวของท้องถิ่นให้เรียนในทุกระดับการศึกษามากขึ้น การศึกษาก่อนวัยเรียนจะเป็นที่นิยมขึ้น เพราะโครงสร้างของครอบครัวเปลี่ยนไป การประถมศึกษาจะมีการขยายตัวให้เป็นการศึกษาภาคบังคับ โดยมีจำนวนปีเพิ่มขึ้น เป็น 9-12 ปี พร้อมทั้งปรับปรุงคุณภาพของสถานศึกษา และปรับหลักสูตรให้เหมาะสม การมัธยมศึกษาจะเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาภาคบังคับ เด็กจะมีโอกาสศึกษาต่อได้มากขึ้น โรงเรียนจะขยายตัวมากขึ้น การอาชีวศึกษาจะขยายตัวมากขึ้นในภูมิภาค มีการฝึกปฏิบัติจริงโดยร่วมมือกับสถานประกอบการจัดสอนและอบรมครู ผู้ประกอบการร่วมกัน ส่วนการอุดมศึกษาจะมีการขยายตัวของสถานศึกษา ออกสู่ภูมิภาคมากขึ้นทั้งของรัฐและเอกชน มีคณะวิชา สาขาใหม่เปิดสอนเพิ่มขึ้น มหาวิทยาลัยมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบการบริหารใหม่เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น อีกทั้งเปิดหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อรองรับความเป็นนานาชาติ ร่วมมือกับต่างประเทศ เปิดสอนทำวิจัยและแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกันมากขึ้น สรุปในทุกระดับชั้นจะมีการเพิ่มวิชาภาษาต่างประเทศ คอมพิวเตอร์ การฝึกงานและปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมที่พึงปรารถนาควบคู่ไปกับการใช้นวัตกรรมในกระบวนการเรียนการสอนและการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น