Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแบบทดสอบการรับรู้ด้านมิติสัมพันธ์ และพัฒนาโปรแกรมแบบทดสอบความใส่ใจสำหรับนักเรียนปฐมวัย และนำแบบทดสอบที่พัฒนาขึ้นไปใช้โดยพิจารณาเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยคะแนนการรับรู้ด้านมิติสัมพันธ์ และคะแนนความใส่ใจระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนปฐมวัย ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนบ้านเขาตะกรุบพัฒนา จำนวน 90 คน อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว เครื่องมือวิจัยแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ กิจกรรมโอเรียนเทียริง (Orienteering) และกิจกรรมเต้น (Dance) 2) เครื่องมือที่ใช้วัดตัวแปรตาม ได้แก่ แบบทดสอบการรับรู้ด้านมิติสัมพันธ์ และโปรแกรมแบบทดสอบความใส่ใจสำหรับนักเรียนปฐมวัย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ t-test และ MANOVA ผลการวิจัยปรากฏว่า 1. ค่าเฉลี่ยคะแนนการรับรู้ด้านมิติสัมพันธ์ของนักเรียนปฐมวัย หลังใช้กิจกรรมโอเรียนเทียริง (Orienteering) สูงกว่าก่อนใช้กิจกรรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2. ค่าเฉลี่ยคะแนนความใส่ใจของนักเรียนปฐมวัย หลังใช้กิจกรรมโอเรียนเทียริง (Orienteering) สูงกว่าก่อนใช้กิจกรรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. ค่าเฉลี่ยคะแนนการรับรู้ด้านมิติสัมพันธ์ของนักเรียนปฐมวัย หลังใช้กิจกรรมเต้น (Dance) สูงกว่าก่อนใช้กิจกรรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4. ค่าเฉลี่ยคะแนนความใส่ใจของนักเรียนปฐมวัย หลังการใช้กิจกรรมเต้น (Dance) สูงกว่าก่อนใช้กิจกรรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 5. ค่าเฉลี่ยคะแนนการรับรู้ด้านมิติสัมพันธ์ และความใส่ใจของนักเรียนปฐมวัยในกลุ่มทดลองหลังใช้กิจกรรมโอเรียนเทียริง (Orienteering) และกิจกรรมเต้น (Dance) และกลุ่มควบคุมที่ใช้กิจกรรมตามปกติแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สรุปได้ว่า การใช้กิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายด้วยกิจกรรมโอเรียนเทียริง (Orienteering) สามารถเพิ่มการรับรู้มิติสัมพันธ์ และความใส่ใจของนักเรียนปฐมวัยได้มากที่สุด