Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการออกแบบป้ายฉลากบรรจุภัณฑ์น้ำตาลทรายผ่านปัจจัยด้านการออกแบบ 3 ด้าน ที่สื่อถึงผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายและวิถีชีวิตชาวไร่ พร้อมทั้งตรวจสอบความสามารถในการจดจำและความพึงพอใจของผู้บริโภคที่มีต่อการออกแบบป้ายฉลากบรรจุภัณฑ์น้ำตาลทราย โดยพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าสมอง N200 และ P300 และทำการเปรียบเทียบพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคระหว่างป้ายฉลากบรรจุภัณฑ์น้ำตาลทรายจากข้อมูลเชิงคลื่นไฟฟ้าสมองกับข้อมูลเชิงพฤติกรรมกลุ่มตัวอย่างเป็นอาสาสมัคร เพศหญิง จำนวน 60 คน อายุระหว่าง 25-60 ปี ในจังหวัดชลบุรี ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ เครื่องบันทึกไฟฟ้าสมองระบบ Neuroscan และผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายที่ติดป้ายฉลากบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบ วิเคราะห์ข้อมูลด้วย ค่าสถิติพื้นฐาน t-test และ Repeated Measures ANOVA ผลการวิจัยปรากฏว่า 1. ป้ายฉลากบรรจุภัณฑ์น้ำตาลทรายที่ออกแบบด้วยปัจจัยด้านการออกแบบ 3 ด้าน ได้แก่ รูปภาพ สี และตัวอักษร ผ่านการจัดองค์ประกอบป้ายฉลากบรรจุบรรจุภัณฑ์ 2 รูปแบบ คือ แบบทางเดียวกัน และแบบเน้นจุดสนใจ มีจำนวนทั้งสิ้น 216 ป้ายฉลากบรรจุภัณฑ์ 2. ข้อมูลเชิงคลื่นไฟฟ้าสมอง แสดงให้เห็นว่า ป้ายฉลากบรรจุภัณฑ์น้ำตาลทรายรูปแบบภาพจริง สีชมพูระดับคล้ำ และตัวอักษรหนา ที่จัดรูปแบบแบบทางเดียวกัน ทำให้เกิดการจดจำและความพึงพอใจมากที่สุด ส่วนข้อมูลเชิงพฤติกรรม แสดงให้เห็นว่า รูปแบบภาพดัดแปลง สีชมพูระดับอ่อน และตัวอักษรเอียง ที่จัดรูปแบบแบบเน้นจุดสนใจ มีค่าเฉลี่ยคะแนนความพึงพอใจสูงสุด 3. ผลของยอดขายผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายที่ติดป้ายฉลากบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบโดยใช้ข้อมูลเชิงคลื่นฟ้าสมอง พบว่า การติดป้ายฉลากดังกล่าวทำให้ขายผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายได้เพิ่มขึ้น กล่าวคือ วิธีการทางระบบประสาทสามารถศึกษารูปแบบป้ายฉลากบรรจุภัณฑ์ที่มีอิทธิพลและมีบทบาทสำคัญในการทำนายพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคได้