Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์เสียงด้านอารมณ์ความรู้สึกในบริบทของสังคมไทย ตรวจสอบคุณภาพของเสียงดิจิทัลด้านอารมณ์ความรู้สึก พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระบบคลังเสียงดิจิทัลด้านอารมณ์ความรู้สึก และเปรียบเทียบอารมณ์ความรู้สึกระหว่างเพศชายกับเพศหญิงที่มีต่อเสียงดิจิทัลด้านอารมณ์ความรู้สึก กลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนไทย ปี พ.ศ. 2560 ที่มีอายุระหว่าง 18 ปี ถึง 60 ปี แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มตรวจสอบคุณภาพของเสียงดิจิทัล จำนวน 400 คน และ 2) กลุ่มเปรียบเทียบอารมณ์ความรู้สึก จำนวน 140 คน (เพศชาย 70 คน และเพศหญิง 70 คน) ได้มาจากการเลือกแบบอาสาสมัคร เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) เสียงดิจิทัลด้านอารมณ์ความรู้สึกในบริบทของสังคมไทย และ 2) มาตรวัดอารมณ์ความรู้สึก (Self-Assessment Manikin: SAM) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงบรรยาย และสถิติทดสอบ t-test ผลการวิจัยปรากฏว่า 1. เสียงดิจิทัลด้านอารมณ์ความรู้สึกในบริบทของสังคมไทย ที่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบคุณภาพ จำนวน 594 เสียง จำแนกเป็น 1) ด้านความประทับใจ จำนวน 170 เสียง (ลักษณะพึงพอใจ จำนวน 45 เสียง ลักษณะเฉย ๆ จำนวน 64 เสียง และลักษณะไม่พึงพอใจ จำนวน 61 เสียง) 2) ด้านการตื่นตัว จำนวน 212 เสียง (ลักษณะตื่นเต้น จำนวน 148 เสียง ลักษณะเฉย ๆ จำนวน 46 เสียง และลักษณะสงบ จำนวน 18 เสียง) และ 3) ด้านการมีอิทธิพล จำนวน 212 เสียง (ลักษณะกลัว จำนวน 37 เสียง ลักษณะเฉย ๆ จำนวน 85 เสียง และลักษณะไม่กลัว จำนวน 90 เสียง) 2. โปรแกรมคอมพิวเตอร์ระบบคลังเสียงดิจิทัลด้านอารมณ์ความรู้สึกในบริบทของสังคมไทย ในรูปแบบเว็บแอพพลิเคชั่น โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ผ่านการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ใช้งานแล้วอยู่ในระดับดี 3. ผลการเปรียบเทียบอารมณ์ความรู้สึกระหว่างเพศชายกับเพศหญิงที่มีต่อเสียงดิจิทัลด้านอารมณ์ความรู้สึกในบริบทของสังคมไทย ชี้ให้เห็นว่า เพศชายมีอารมณ์ความรู้สึกต่อเสียงดิจิทัลด้านการตื่นตัว ลักษณะสงบ และด้านการมีอิทธิพล ลักษณะเฉย ๆ ลักษณะไม่กลัว มากกว่าเพศหญิง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05