Abstract:
ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาสร้างรายได้ให้เป็นจํานวนมาก ดังนั้น เมื่อนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประสบปัญหาได้รับความเสียหายจากการบริโภค จึงควรจะสามารถได้รับการเยียวยาความเสียหายที่เข้าถึงได้ง่าย เป็นธรรม รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพราะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะอยู่ในประเทศไทยเพียงช่วงระยะสั้น ๆ และความเสียหายมีจํานวนเล็กน้อย จากการศึกษากฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง พบว่า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแม้ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 แต่ก็ไม่สามารถได้รับการเยียวยาได้อย่างทันท่วงที ขณะที่กองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติ และพระราชบัญญัติธุรกิจนําเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 จํากัดเฉพาะการเยียวยาความเสียหายทางแพ่งแก่ชาวต่างชาติในบางเรื่องเท่านั้น นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังอาจดําเนินคดีผู้บริโภคตาม พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้แต่อาจไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายที่รวดเร็วและเหมาะสม เนื่องกระบวนการทางศาลอาจล่าช้า มีค่าใช้จ่ายสูงต้องดําเนินการบังคับคดีเองในภายหลังและผู้มีอํานาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคก็ไม่อาจฟ้องคดีแทนได้ในทุกกรณี ผู้วิจัยจึงข้อเสนอแนะว่าในเบื้องต้นควรมีการปรับปรุงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและควรตั้งให้มีผู้แทนของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยตรงเพื่อดําเนินการแทนในกระบวนการพิจารณาคดี ผู้บริโภคในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องควรให้มีกลไกเยียวยาความเสียหายที่ใช้ง่าย รวดเร็ว ลดภาระและค่าใช้จ่ายที่ไม่จําเป็น นอกจากนี้ ประเทศไทยควรตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนเยียวยาความเสียหายทางแพ่งแก่ผู้บริโภคที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ให้มีหน่วยงานเฉพาะและเจ้าหน้าที่มีความพร้อมด้านภาษาต่างประเทศให้มีอํานาจรับเรื่อง พิจารณาตรวจสอบ และสั่งจ่ายค่าเสียหายได้ทันทีซึ่งกองทุนจะรับสิทธิไล่เบี้ยจากนักท่องเที่ยวผู้นั้นไปฟ้องร้องผู้ประกอบธุรกิจที่กระทําการค้าอันขัดต่อกฎหมายต่อไป โดยให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 18 และมาตรา 19 แห่ง พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ให้กองทุนนี้สามารถฟ้องคดีใช้สิทธิไล่เบี้ยได้โดยไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นศาล และให้ถือว่าเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีผู้บริโภค