Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาระบบการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดใหม่และปรับเปลี่ยน โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับนักศึกษาครู มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี โดยมีกระบวนการวิจัย 3 ขั้นตอนหลัก กล่าวคือ 1) ขั้นสร้างระบบการสอน (Construction) ประกอบด้วย การสังเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างข้อสรุปกำหนดเป็นกรอบแนวคิดเชิงทฤษฎีในการร่างระบบการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดใหม่และปรับเปลี่ยน จากนั้นตรวจสอบคุณภาพของระบบการสอนฯ โดยวิธีการสนทนากลุ่ม (Focus group discussion) ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 8 คน และประเมินความสอดคล้องของเครื่องมือ ที่ใช้ในการวิจัย โดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน 2) ขั้นนำระบบการสอนไปใช้ในสถานการณ์จริง (Implementation) ผู้วิจัยดำเนินการตามแผนการทดลองแบบการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียวเมื่อมีการวัดซ้ำ (One-way repeated measurement design) ลักษณะการวิจัยเป็นการวิจัย เชิงปฏิบัติการ โดยกลุ่มตัวอย่างที่นำระบบการสอนไปใช้เป็นนักศึกษา ระดับปริญญาตรี สาขาคณิตศาสตร์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ชั้นปีที่ 3 จำนวน 32 คน เนื้อหาที่ใช้ในการทดลองเป็นเนื้อหาสาระในรายวิชานวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ดำเนินการทดลอง 1 ภาคการศึกษา คือ ภาคศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2559 โดยแบ่งการทดลองเป็น 5 วงรอบ เครื่องมือวิจัย คือ แบบประเมินทักษะการคิดใหม่และปรับเปลี่ยน ใช้การทดสอบ ฟรีดแมน (Friedman test) เพื่อหาความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของตัวชี้วัดทั้ง 4 ด้าน และใช้การทดสอบของวิลคอกซัน (Wilcoxon) ในการเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยรายคู่แบ่งตามตัวชี้วัด 4 ด้านของการทดลองทั้ง 5 วงรอบ จากนั้นใช้วิธีการของเชฟเฟ่ (Scheffe) เปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยทักษะการคิดใหม่และปรับเปลี่ยน รายคู่ 3) ขั้นประเมิน (Evaluation) เป็นการประเมินประสิทธิภาพระบบการสอนฯ และการประเมินความเหมาะสมของระบบการสอนโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 8 คน ผลการวิจัย พบว่า 1. ระบบการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดใหม่และปรับเปลี่ยน โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับนักศึกษาครู มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มีชื่อเรียกว่า “Novel & adaptive thinking instructional system” องค์ประกอบของระบบการสอนฯ มี 5 ขั้น คือ 1) เรียนรู้ปัญหา 2) แสวงหาคำตอบ 3) กระตุ้นคิดสิ่งใหม่ 4) ทดลองใช้สิ่งใหม่ และ 5) สรุปและประเมินผล โดยทักษะการคิดใหม่และปรับเปลี่ยน ประกอบด้วยตัวชี้วัด 4 ด้าน คือ 1) ด้านการคิดปรับปรุง 2) ด้านการคิดดัดแปลง 3) ด้านการคิดสร้างสรรค์ และ 4) ด้านการคิดประยุกต์ 2. การประเมินทักษะการคิดใหม่และปรับเปลี่ยน โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร สำหรับนักศึกษาครู มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ด้วยวิธีการนำค่าเฉลี่ยทักษะ การคิดใหม่และปรับเปลี่ยน มาเปรียบเทียบเป็นรายคู่ จำนวน 10 คู่ จากการทดลองใช้ทั้งหมด 5 วงรอบค่าเฉลี่ยมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยผลการทดสอบมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 พบว่า มีความแตกต่างจำนวน 9 คู่ และไม่มีความแตกต่างจำนวน 1 คู่ 3. ระดับการประเมินความเหมาะสมของระบบการสอน โดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 8 ท่าน อยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 4.51