Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนามาตรวัดเจตคติต่อวิชาชีพครูตามโมเดลการตอบสนองข้อสอบแบบพหุมิติ 2) จัดทำคลังข้อคำถามสำหรับมาตรวัดเจตคติต่อวิชาชีพครู 3) พัฒนาโปรแกรมการทดสอบปรับเหมาะแบบพหุมิติด้วยคอมพิวเตอร์สำหรับมาตรวัดเจตคติต่อวิชาชีพครู และ 4) ศึกษาความสัมพันธ์ของผลการประมาณค่าเจตคติต่อวิชาชีพครูจากผลการทดสอบด้วยโปรแกรมการทดสอบปรับเหมาะแบบพหุมิติด้วยคอมพิวเตอร์กับผลการทดสอบโดยใช้ข้อคำถามทั้งหมดในคลังข้อคำถาม กลุ่มตัวอย่าง เป็น นิสิต นักศึกษา หลักสูตรทางการศึกษา ชั้นปีที่ 4 ปีการศึกษา 2560 ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ 17 สถาบัน จำนวน 952 คน ได้มาจากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน ผลการวิจัยปรากฏว่า 1. มาตรวัดเจตคติต่อวิชาชีพครูประกอบด้วย ข้อคำถาม จำนวน 97 ข้อ แบ่งออกเป็น 3 องค์ประกอบ คือ ด้านปัญญา ด้านอารมณ์ความรู้สึก และด้านพฤติกรรม ผลการตรวจสอบความเที่ยงของมาตรวัดด้วยการวิเคราะห์แบบพหุมิติ (EAP Reliability) มีค่าเท่ากับ .935, .953 และ .960 ตามลำดับ ผลการตรวจสอบความตรงเชิงโครงสร้างปรากฏว่า โมเดลการวัดเจตคติต่อวิชาชีพครูแบบพหุมิติระหว่างข้อมีความเหมาะสมมากกว่าโมเดลการวัดแบบเอกมิติรวมและแบบเอกมิติแยกตามมิติ และผลการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันโมเดลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ( = 70.37, = 69, = .43, = 0.00) เกณฑ์ปกติสำหรับมาตรวัดเจตคติต่อวิชาชีพครูประกอบด้วย ตำแหน่งเปอร์เซ็นต์ไทล์ คะแนนซี คะแนนที และสเตไนน์ ซึ่งแบ่งระดับเจตคติต่อวิชาชีพครูออกเป็น 5 ระดับ (ดีมาก ดี ปานกลาง ค่อนข้างไม่ดี และ ไม่ดี) 2. คลังข้อคำถามแบ่งออกเป็น 3 คลังย่อย ได้แก่ ด้านปัญญา จำนวน 31 ข้อ ด้านอารมณ์ความรู้สึก จำนวน 32 ข้อ และด้านพฤติกรรม จำนวน 34 ข้อ 3. โปรแกรมการทดสอบปรับเหมาะแบบพหุมิติด้วยคอมพิวเตอร์สำหรับมาตรวัดเจตคติต่อวิชาชีพครูมีความเหมาะสมในการนำไปใช้งานอยู่ในระดับมาก 4. ผลการประมาณค่าเจตคติต่อวิชาชีพครูด้วยโปรแกรมการทดสอบปรับเหมาะแบบพหุมิติด้วยคอมพิวเตอร์กับผลการทดสอบด้วยข้อคำถามทั้งหมดในคลังข้อคำถามมีความสัมพันธ์กันทางบวก โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ เท่ากับ 0.34 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05