Abstract:
อารมณ์ด้านการมีอิทธิพลเกิดจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่มีต่ออารมณ์ของแต่ละบุคคลซึ่งมีความแตกต่างกันทางเพศและบุคลิกภาพ ส่งผลต่อความสามารถในการควบคุมอารมณ์ได้หรือไม่ได้ และมีอารมณ์กลัวหรือไม่กลัวต่อสิ่งแวดล้อมนั้น การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบกิจกรรมการทดลองมองคำภาษาไทยและฟังเสียงดิจิทัลที่เร้าอารมณ์ด้านการมีอิทธิพลในผู้ใหญ่ตอนต้น ศึกษาอารมณ์ด้านการมีอิทธิพลในเชิงพฤติกรรมและคลื่นไฟฟ้าสมอง ขณะมองคำภาษาไทยและฟังเสียงดิจิทัลที่เร้าอารมณ์ด้านการมีอิทธิพล จำแนกตามเพศและบุคลิกภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ กิจกรรมการทดลองมองคำภาษาไทยและฟังเสียงดิจิทัลที่เร้าอารมณ์ด้านการมีอิทธิพล มาตรวัดอารมณ์ด้านการมีอิทธิพล และเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง NeuroScan กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตปริญญาตรี มหาวิทยาลัยบูรพา ปีการศึกษา 2560 จำนวน 80 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ two way ANOVA ผลการวิจัยปรากฏว่า 1. กิจกรรมการทดลองมองคำภาษาไทยและฟังเสียงดิจิทัลที่เร้าอารมณ์ด้านการมีอิทธิพลในผู้ใหญ่ตอนต้น ประกอบด้วย กิจกรรม 2 ชุด ๆ ละ 14 สิ่งเร้า ตามลักษณะอารมณ์ด้านการมีอิทธิพล คือ ลักษณะกลัวและลักษณะไม่กลัว 2. ผู้ใหญ่ตอนต้นเพศหญิงมีอารมณ์ด้านการมีอิทธิพล ลักษณะกลัวมากกว่าผู้ใหญ่ตอนต้นเพศชาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพศกับบุคลิกภาพขณะมองคำภาษาไทยและฟังเสียงดิจิทัลที่เร้าอารมณ์ด้านการมีอิทธิพลในลักษณะกลัว อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. คลื่นไฟฟ้าสมองของผู้ใหญ่ตอนต้นขณะมองคำภาษาไทยและฟังเสียงดิจิทัลที่เร้าอารมณ์ด้านการมีอิทธิพลในลักษณะกลัวและลักษณะไม่กลัว ระหว่างเพศชายกับเพศหญิงแตกต่างกันที่บริเวณเปลือกสมองส่วนท้ายทอย (Occipital Lobe) ที่ตำแหน่ง PO7 ถึง PO8 และ O1 ถึง O2 และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพศกับบุคลิกภาพที่บริเวณเปลือกสมองส่วนท้ายทอย ที่ตำแหน่ง PO5, PO3, POz และ PO4 บริเวณสมองส่วนกลาง (Central Lobe) ที่ตำแหน่ง C3, C6, CP5, CP1 และ CP6 และบริเวณเปลือกสมองส่วนหน้า (Frontal Lobe) ที่ตำแหน่ง F3 และ FC3 สรุปได้ว่า ผู้ใหญ่ตอนต้นที่มีเพศต่างกันมีอารมณ์ด้านการมีอิทธิพล ลักษณะกลัวขณะมองคำภาษาไทยและฟังเสียงดิจิทัลที่เร้าอารมณ์ด้านการมีอิทธิพล ลักษณะกลัวแตกต่างกัน