Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ประเภทของโฆษณาต่อต้านการสูบบุหรี่ที่มีเนื้อหา เชิงบวก ออกแบบกิจกรรมทดสอบการรู้จำโฆษณาต่อต้านการสูบบุหรี่ที่มีเนื้อหาเชิงบวกและเปรียบเทียบผลของโฆษณาต่อต้านการสูบบุหรี่ที่มีเนื้อหาเชิงบวกต่อความจำระยะกลาง และความจำระยะยาว ด้วยกิจกรรมทดสอบการรู้จำ และการวัดคลื่นไฟฟ้าสมองชนิด ERPs (Event Related Potentials) กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี จำนวน 60 คน ประกอบด้วย เพศชาย จำนวน 42 คน และเพศหญิง จำนวน 18 คน อายุระหว่าง 19-24 ปี วิเคราะห์ด้วยสถิติทดสอบ One-way ANOVA Repeated Measure ผลการทดสอบด้วยกิจกรรมทดสอบการรู้จำช่วงความจำระยะกลาง ปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างมีเปอร์เซ็นต์ความถูกต้องของเนื้อหาประเภท Joy มากกว่าเนื้อหาประเภท Love และ Contentment อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05) ผลตรวจการวัดคลื่นไฟฟ้าสมองชนิด ERPs ปรากฏว่า P300 แอมพลิจูดของเนื้อหาประเภท Joy ต่ำกว่าเนื้อหาประเภท Contentment อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05) ที่บริเวณเปลือกสมองส่วนหน้า (Frontal) ที่บริเวณเปลือกสมองส่วนกลาง (Central) ที่บริเวณเปลือกสมองส่วนขมับ (Temporal) ที่บริเวณเปลือกสมองด้านข้าง (Parietal) ที่บริเวณเปลือกสมองส่วนท้ายทอย (Occipital) แสดงว่าการจดจำเนื้อหาประเภท Joy สามารถจดจำได้ดีกว่าเนื้อหาประเภท Contentment ในส่วน P300 แอมพลิจูดของเนื้อหาประเภท Love ต่ำกว่าเนื้อหาประเภท Contentment อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05) ที่บริเวณเปลือกสมองส่วนท้ายทอย (Occipital) แสดงว่าการจดจำเนื้อหาประเภท Love สามารถจดจำได้ดีกว่าเนื้อหาประเภท Contentment ส่วนผลการทดสอบช่วงความจำระยะยาว ปรากฏว่า สอดคล้องกับการทดสอบช่วงความจำระยะกลาง โดยกลุ่มตัวอย่างมีเปอร์เซ็นต์ความถูกต้องของเนื้อหาประเภท Joy มากกว่าเนื้อหาประเภท Love และ Contentment อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05) แสดงให้เห็นว่าโฆษณาต่อต้านการสูบบุหรี่เนื้อหาประเภท Joy ทำให้ผู้ชมเกิดการจดจำได้ดีกว่าเนื้อหาประเภท Love และ Contentment