Abstract:
ความกลัวการหกล้มในผู้สูงอายุพบได้บ่อยและส่งผลถึงการจำกัดการปฏิบัติกิจกรรมประจำวันและการควบคุมโรคเบาหวานในผู้สูงอายุการวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยายความสัมพันธ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความกลัวการหกล้มและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความกลัวการหกล้มของผู้สูงอายุโรคเบาหวาน สุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นและการสุ่มอย่างง่ายจากผู้สูงอายุที่มารับบริการในคลินิกโรคเบาหวาน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในเขตอำเภอเมืองจังหวัดชลบุรี จำนวน 115 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนบุคคลแบบประเมินความกลัวการหกล้มฉบับภาษาไทย แบบสัมภาษณ์การรับรู้ภาวะสุขภาพ แบบวัดความเศร้าในผู้สูงอายุของไทย การทดสอบการก้าวเดินและการทรงตัวของผู้สูงอายุเครื่องมือทดสอบการรับความรู้สึกบริเวณฝ่าเท้าและแผ่นวัดสายตาระบบตัวเลขวิเคราะห์ค่าความสัมพันธ์โดยการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์สเปียร์แมน แรงค์ ออเดอร์และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พอยท์ไบซีเรียล ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความกลัวการหกล้ม (ร้อยละ 53.90) การรับรู้ภาวะสุขภาพมีความสัมพันธ์ทางลบในระดับปานกลาง (rs= -.354, p< .01) ภาวะปลายประสาทเสื่อม มีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับต่ำ (rpb= .294, p= .001) และความสามารถในการก้าวเดิน และการทรงตัวมีความสัมพันธ์ทางลบในระดับต่ำ (rs= -.251, p= .003) กับความกลัวการหกล้มของผู้สูงอายุโรคเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ภาวะซึมเศร้า และความสามารถในการมองเห็นมีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับต่ำกับความกลัวการหกล้มของผู้สูงอายุโรคเบาหวาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (rs= .221, p= .009; rpb= .205, p= .028) ส่วนเพศอายุ และประสบการณ์การหกล้ม มีความสัมพันธ์กับความกลัวการหกล้มของผู้สูงอายุโรคเบาหวานอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 บุคลากรด้านสุขภาพควรให้ความสำคัญกับความกลัวการหกล้มของผู้สูงอายุโรคเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่มีการรับรู้ภาวะสุขภาพไม่ดีมีภาวะปลายประสาทเสื่อม มีการทรงตัวไม่ดีมีภาวะซึมเศร้า และความสามารถในการมองเห็นบกพร่องโดยสามารถนำผลการวิจัยไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาแนวปฏิบัติหรือโปรแกรมการพยาบาลเพื่อลดความกลัวการหกล้ม หรือส่งเสริมความมั่นใจในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุโรคเบาหวานต่อไป