Abstract:
การมีกิจกรรมทางกายภายหลังการได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจ มีความสำคัญยิ่งในการป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน การวิจัยครั้งนี้เป็นแบบหาความสัมพันธ์เชิงทำนาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลได้แก่ ความรุนแรงของโรคความฉลาดทางสุขภาพ การรับรู้สมรรถนะแห่งตน และการสนับสนุนทางสังคมต่อกิจกรรมทางกายของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่ได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจคัดเลือก กลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย จำนวน 89 ราย เป็นผู้ป่วยที่มารับการรักษาติดตามที่ แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลพระปกเกล้าจังหวัดจันทบุรี เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 เครื่องมือวิจจัยเป็นแบบสอบถามที่ให้กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ตอบเอง ได้แก่ แบบสอบถามความฉลาดทางสุขภาพ การรับรู้สมรรถนะแห่งตน การสนับสนุนทางสังคม และกิจกรรมทางกาย มีค่าความเชื่อมั่น ของสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาคเท่ากับ .82, .85, .71 และ .81 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาและการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการวิจัยพบว่า ความรุนแรงของโรคเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุดของกิจกรรมทางกาย (Beta= .562) รองลงมาคือการสนับสนุนทางสังคม (Beta= .230) และการรับรู้สมรรถนะแห่งตน (Beta = .196) ปัจจัยทั้งสามนี้มีอิทธิพลและสามารถร่วมกันทำนายกิจกรรมทางกายของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่ได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจได้ร้อยละ 55.0 (R 2 = .550, F = 34.606, p< .001) ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่ได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาแนวทางหรือโปรแกรมการพยาบาลเพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยนั้นสามารถทำกิจกรรมทางกายได้อย่างเหมาะสม