Abstract:
ผู้ป่วยโรคมะเร็งส่วนใหญ่มีความเสี่ยงในการเกิดความว้าเหว่ อันเป็นผลมาจากการเจ็บป่วย และอาจส่งผลกระทบด้านสัมพันธภาพกับบุคคลในครอบครัวและบุคคลในสังคมได้การศึกษา หาความสัมพันธ์เชิงทำนายครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความว้าเหว่และปัจจัยทำนายความว้าเหว่ (ได้แก่ ความเครียด ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง และความปวด) กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด การฉายรังสี และ/ หรือการผ่าตัดที่หอผู้ป่วยสามัญหญิง หอผู้ป่วยสามัญชาย และหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตและศัลยกรรม โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรีที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย จำนวน 77 รายเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวม ประกอบด้วย 1) แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบประเมินความว้าเหว่ 3) แบบประเมินความเครียด 4) แบบประเมินความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง และ 5) แบบประเมินความปวดได้ค่าความเชื่อมั่นสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค (Cronbach’s alpha coefficients) ของแบบประเมินความเครียด แบบประเมินความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง และแบบประเมินความว้าเหว่ เท่ากับ .83, .88 และ .95 ตามลำดับ ส่วนแบบประเมินความปวดมีค่าความคงที่แบบวัดซ้ำ (Test-retest reliability) เท่ากับ .98 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณาและสถิติถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคมะเร็งในโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี มีความว้าเหว่ ( ̅= 68.18, SD =6.73) และความเครียด ( ̅= 24.97, SD =5.42) ในระดับปานกลาง ส่วนความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองในระดับสูง ( ̅= 34.48, SD =4.54) และมีความปวดที่มีความรุนแรงในระดับต่ำ ( ̅= 3.39, SD =2.26) ความเครียดเป็นปัจจัยเดียวที่สามารถทำนายความว้าเหว่ของกลุ่มตัวอย่าง (R 2 = .156, p < .001) จากผลการวิจัยมีข้อเสนอแนะว่าพยาบาลควรตระหนักถึงความสำคัญทำความเข้าใจ และหาแนวทางจัดการความเครียดเพื่อป้องกันความว้าเหว่ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง