Abstract:
ภาวะสับสนเฉียบพลันหลังผ่าตัดเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายและพบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่เข้ารับการผ่าตัดใหญ่ทุกชนิด การวิจัยเชิงบรรยายความสัมพันธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะสับสนเฉียบพลันหลังผ่าตัดในผู้สูงอายุที่ได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง สุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นและการสุ่มแบบง่ายจากผู้สูงอายุที่เข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง จำนวน 95 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลแบบประเมินภาวะโรคร่วมตามการจำแนกผู้ป่วยตามสภาวะร่างกายแบบวัดความเศร้าในผู้สูงอายุของไทยแบบประเมิน ความปวดโดยใช้มาตรวัดความปวดแบบตัวเลข และแบบประเมินภาวะสับสนเฉียบพลันฉบับภาษาไทย วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาความถี่ร้อยละค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์ สหสัมพันธ์พอยท์ไบซีเรียลและค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของสเปียร์แมน ผลการวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุมีภาวะสับสนเฉียบพลันหลังผ่าตัดกระดูกสันหลังคิดเป็นร้อยละ 33.7 ภาวะซึมเศร้ามีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับปานกลาง (rs= .66, p < .01) อายุมีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับปานกลาง (rs = .64, p< .01) ระดับความดันโลหิตระหว่างผ่าตัดมีความสัมพันธ์ทางลบในระดับปานกลาง (rs= -.55, p< .01) และระดับของโซเดียมในเลือดหลังผ่าตัดมีความสัมพันธ์ทางลบในระดับปานกลาง (rs= -.51, p< .01) กับภาวะสับสนเฉียบพลันหลังผ่าตัดในผู้สูงอายุที่ได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลังอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ส่วนเพศความรุนแรงของการจ็บปวดหลังผ่าตัดและภาวะโรคร่วม มีความสัมพันธ์กับภาวะสับสนเฉียบพลันหลังผ่าตัดในผู้สูงอายุที่ได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลังอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (rpb= -.03, p= .75, rs= .03, p= .40, rs= .03, p= .40) ตามลำดับ ทีมสุขภาพควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับการประเมินภาวะสับสนเฉียบพลัน หลังผ่าตัดในผู้สูงอายุที่ได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลังผลการวิจัยสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผน แนวทางปฏิบัติการพยาบาลหรือโปรแกรมการพยาบาลโดยให้ความสำคัญ เกี่ยวกับการจัดการภาวะซึมเศร้าก่อนผ่าตัดการประเมิน และแก้ไขระดับโซเดียมในเลือดหลังผ่าตัดให้อยู่ในภาวะสมดุล รวมทั้งควบคุมระดับความดันโลหิตในระหว่างผ่าตัดให้คงที่โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีอายุมาก เพื่อป้องกันการเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันต่อไป