Abstract:
ความกลัวการหกล้ม เป็นสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุส่งผลให้ผู้สูงอายุสูญเสียความมั่นใจในตนเองเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวอย่างปลอดภัย และหลีกหนีการทำกิจกรรมจนทำให้ความสามารถในการทำกิจกรรมลดลงการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับของความกลัวการหกล้มและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความกลัวการหกล้มของผู้ป่วยสูงอายุผู้วิจัยสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น และสุ่มตัวอย่างแบบง่ายจากผู้ป่วยสูงอายุที่เข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชน จังหวัดนครราชสีมา ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 123 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนบุคคลแบบสัมภาษณ์การรับรู้ภาวะสุขภาพ แบบประเมิน อาการกลัวหกล้มในผู้สูงอายุไทยแบบวัดความเศร้าในผู้สูงอายุของไทยแบบประเมินภาวะโรคร่วม แบบประเมินความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน และการทดสอบความสามารถในการทรงตัว โดยการยืนต่อเท้าเป็นแนวเส้นตรงวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาความถี่ร้อยละค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์สเปียร์แมน แรงค์ออเดอร์และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พอยท์ ไบซีเรียล ผลการวิจัย พบว่ากลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่มีความกลัวการหกล้ม (ร้อยละ 82.9) โดยกลัวการหกล้มในระดับมาก (ร้อยละ 85.3) ความสามารถในการทรงตัวมีความสัมพันธ์ทางลบในระดับปานกลาง (r s = -.327, p = < .01) ความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน การรับรู้ภาวะสุขภาพ มีความสัมพันธ์ทางลบในระดับตํ่า (r s = -.248, p= .003; r s = -.223, p= .007) กับความกลัวการหกล้มของผู้ป่วยสูงอายุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เพศหญิง ภาวะซึมเศร้าและประสบการณ์ การหกล้มมีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับตํ่า (r pb= .200, p= .013; r s = .194, p= .016; r s = .184, p= .021) กับความกลัวการหกล้มของผู้ป่วยสูงอายุอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนภาวะโรคร่วมมีความสัมพันธ์กับความกลัวการหกล้มของผู้ป่วยสูงอายุอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 บุคลากรทางด้านสุขภาพควรให้ความสำคัญกับความกลัวการหกล้มของผู้ป่วยสูงอายุ ในการพัฒนาโปรแกรมเพื่อส่งเสริมความมั่น ใจในการเคลื่อนไหวอย่างปลอดภัยให้แก่ผู้ป่วยสูงอายุ โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มความสามารถในการทรงตัว การเพิ่มระดับการรับรู้ภาวะสุขภาพ และจัดการกับภาวะซึมเศร้าโดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุเพศหญิงที่มีประสบการณ์การหกล้ม