Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและตรวจสอบความตรงเชิงโครงสร้างมาตรวัดความสุข ของคนไทยตามทฤษฏี PERMA เปรียบเทียบความตรงร่วมสมัย ความตรงเชิงลู่ออก และเปรียบเทียบความสุขของคนไทย โดยจำแนกตามเพศ อายุ อาชีพ และรายได้ กลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนใน จังหวัดสระแก้ว จำนวน 1,143 คน ซึ่งมีการพัฒนามาตรวัดในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชั่น (www.Thai-PERMA.com) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติทดสอบ t-test และ การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบ ทางเดียว ผลการวิจัยปรากฏว่า 1. มาตรวัดความสุขของคนไทยตามทฤษฏี PERMA ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ ด้านอารมณ์เชิงบวก ด้านความผูกพัน ด้านสัมพันธภาพ ด้านความหมาย และด้านความสำเร็จ มี 15 ข้อ มีค่า I-CVI เท่ากับ 0.67-1.00 และ S-CVI เท่ากับ 0.96 ค่าความเที่ยง เท่ากับ 0.83 ค่าอำนาจจำแนก เท่ากับ 0.31- 0.74 ผลการตรวจสอความตรงเชิงโครงสร้างสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ 2. เปรียบเทียบความตรงร่วมสมัยของมาตรวัดความสุขของคนไทยตามทฤษฏี PERMA กับมาตรวัดความสุข Thai Mental Health Indicator มาตรวัดความสุขของคนไทยตามทฤษฏี PERMA กับมาตรวัดความสุขของคนไทย และมาตรวัดความสุข Thai Mental Health Indicator กับมาตรวัดความสุขของคนไทย มีความแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. ทดสอบความตรงเชิงลู่ออกของมาตรวัดความสุขของคนไทยตามทฤษฏี PERMA กับมาตรวัดความซึมเศร้าของเบค มีความแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 4. ผลการเปรียบเทียบความสุขของคนไทย จำแนกตามเพศ อายุ อาชีพ และรายได้ ปรากฏว่า ความสุขของคนไทยไม่แตกต่างกัน เมื่อจำแนกตามเพศ และรายได้ และความสุข ของคนไทยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อจำแนกตามอายุ และอาชีพ