Abstract:
ความสามารถในการแข่งขันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หมายถึง ความสามารถของ แหล่งท่องเที่ยวในการบูรณาการสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ การจัดการ การสร้างนวัตกรรม และการมอบคุณภาพบริการที่ดีกว่าแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาเกณฑ์การประเมินความสามารถในการแข่งขันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขององค์การบริหารส่วนตำบล ด้วยเทคนิคเดลฟายอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 3 รอบ กับผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 20 คน 2) พัฒนาโปรแกรมประเมินแบบออนไลน์ ด้วยภาษา PHP และ 3) เปรียบเทียบผลการประเมินความสามารถในการแข่งขันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขององค์การบริหารส่วนตำบลที่ได้รับรางวัลกินรีกับองค์การบริหารส่วนตำบลที่ไม่ได้รับรางวัล วิเคราะห์ผลการประเมินด้วยสถิติทดสอบแมน-วิทนีย์ ยู ผลการวิจัยปรากฏว่า 1. เกณฑ์การประเมินความสามารถในการแข่งขันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขององค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วย 7 ด้าน 24 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ 1) ด้านการจัดการท่องเที่ยว (4 ตัวบ่งชี้) 2) ด้านภาวะผู้นำองค์การบริหารส่วนตำบลและทุนมนุษย์ (2 ตัวบ่งชี้) 3) ด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการท่องเที่ยว (3 ตัวบ่งชี้) 4) ด้านตลาดการท่องเที่ยว (4 ตัวบ่งชี้) 5) ด้านคุณค่าและการจัดการความรู้การท่องเที่ยว (2 ตัวบ่งชี้) 6) ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (4 ตัวบ่งชี้) และ 7) ด้านศักยภาพการแข่งขันการท่องเที่ยว (5 ตัวบ่งชี้) ความสามารถในการแข่งขันการท่องเที่ยว อย่างยั่งยืน แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่ระดับที่ 1 (ควรปรับปรุงอย่างเร่งด่วน) ถึงระดับที่ 5 (ดีมาก) 2. โปรแกรมประเมินความสามารถในการแข่งขันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขององค์การบริหารส่วนตำบลแบบออนไลน์ที่พัฒนาขึ้น มีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้งานได้ในระดับมาก 3. ผลการเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขององค์การบริหารส่วนตำบลที่ได้รับรางวัลกินรีกับองค์การบริหารส่วนตำบลที่ไม่ได้รับรางวัล ชี้ให้เห็นว่า ความสามารถในการแข่งขันขององค์การบริหารส่วนตำบลที่ได้รับรางวัลกินรีสูงกว่าองค์การบริหารส่วนตำบลที่ไม่ได้รับรางวัล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ. 01 สรุปได้ว่า เกณฑ์การประเมินความสามารถในการแข่งขันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่พัฒนาขึ้น มีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้ประเมินความสามารถในการแข่งขันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขององค์การบริหารส่วนตำบล