Abstract:
การขาดสารไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์มีผลกระทบต่อสุขภาพหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการป้องกันการขาดสารไอโอดีน และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการป้องกันการขาดสารไอโอดีนของหญิงตั้งครรภ์กลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงตั้งครรภ์ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดที่มารับบริการฝากครรภ์ ณ โรงพยาบาลศูนย์ที่ทำการศึกษาวิจัย จำนวน 90 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยใช้การสุ่มอย่างง่าย รวบรวมข้อมูล โดยใช้แบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาและการวิเคราะห์ การถดถอยพหุคูณแบบมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า พฤติกรรมการป้องกันการขาดสารไอโอดีนที่หญิงตั้งครรภ์ปฏิบัติเป็นประจำมากที่สุด คือ การรับประทานวิตามินเสริมไอโอดีนที่ได้รับจากคลินิกฝากครรภ์วันละ 1 เม็ด (ร้อยละ 71.1) ส่วนพฤติกรรมการป้องกันการขาดสารไอโอดีนที่หญิงตั้งครรภ์ปฏิบัติเป็นประจำน้อยที่สุด คือ การรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนสูง เช่น อาหารทะเลเพิ่มขึ้น (ร้อยละ8.9) และเมื่อวิเคราะห์ด้วยสถิติถดถอยพหุคูณแบบมาตรฐานพบว่า การรับรู้ประโยชน์ของการป้องกันการขาดสารไอโอดีน การรับรู้อุปสรรคของการป้องกันการขาดสารไอโอดีน จำนวนครั้งของการตั้งครรภ์และรายได้ของครอบครัวหญิงตั้งครรภ์ร่วมกันทำนายพฤติกรรมการป้องกันการขาดสารไอโอดีนของหญิงตั้งครรภ์ได้ร้อยละ 42.2 (R 2 =.422, p< .01) โดยการรับรู้ประโยชน์ของการป้องกันการขาดสารไอโอดีนมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการป้องกันการขาดสารไอโอดีนของหญิงตั้งครรภ์มากที่สุด (β = .614, p< .01) ผลการวิจัยเสนอแนะว่า ควรมีการจัดกิจกรรมเพื่อให้หญิงตั้งครรภ์รับรู้ประโยชน์ของการป้องกันการขาดสารไอโอดีนเพิ่มขึ้น และลดการรับรู้อุปสรรคของการป้องกันการขาดสารไอโอดีน โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่เคยมีบุตรมาก่อน