Abstract:
หญิงตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งทางสรีระวิทยาและทางจิตใจ ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง จะเกิดผลกระทบมากขึ้นเป็นทวีคูณ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงและศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ ความวิตกกังวลการสนับสนุนทางสังคมกับคุณภาพชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง กลุ่มตัวอย่าง ในการวิจัยเป็นหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงมาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล สังกัดสภากาชาดไทย จำนวน 92 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูล ส่วนบุคคลแบบวัดคุณภาพชีวิต SF-12 เวอร์ชัน 2 แบบสอบถามพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง แบบสอบถามความวิตกกังวลขณะเผชิญ และแบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคมแบบพหุมิติ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการวิจัยพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง มีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับดี ร้อยละ 81.50 มีคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิต เท่ากับ 64.10(SD = 15.42) ความวิตกกังวลมีความสัมพันธ์ทางลบระดับปานกลางกับคุณภาพชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (r= -.545, p< .01) ส่วนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ และการสนับสนุนทางสังคมไม่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง (r = .140 และ r= -.043, p>.05 ตามลำดับ) ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า ควรมีการสร้างโปรแกรมเพื่อลดความวิตกกังวลในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของหญิงตั้งครรภ์