Abstract:
ความสําคัญในการปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ในการดูแลด้านสุขภาพ พยาบาลได้นําผลงานวิจัยที่ค้นคว้ามาใช้มาช่วยด้านการตัดสินใจในการดูแลรักษาทางคลินิกและนําไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติการพยาบาล การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติการดูแลการคลอดปกติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ของพยาบาลห้องคลอดโรงพยาบาลในสังกัดเขตสุขภาพที่ 5 กลุ่มตัวอย่าง คือ พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในแผนกห้องคลอดของโรงพยาบาลในสังกัดเขตสุขภาพที่ 5 จํานวน 120 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามความรู้และ ทัศนคติเกี่ยวกับการปฏิบัติการพยาบาลตามหลักฐานเชิงประจักษ์ แบบสอบถามการสนับสนุนในการปฏิบัติการพยาบาลตามหลักฐานเชิงประจักษ์ และแบบสอบถามการปฏิบัติการดูแลการคลอดปกติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .90, .75, .74 และ .71 ตามลําดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และวิเคราะห์ความสัมพันธ์โดยหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ผลการวิจัย พบว่า พยาบาลห้องคลอดมีการปฏิบัติการดูแลการคลอดปกติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ โดยรวมถูกต้องเหมาะสมค่อนข้างมาก (M = 35.16, SD = 3.91) ความรู้ในการ ปฏิบัติการพยาบาลตามหลักฐานเชิงประจักษ์ และการสนับสนุนในการปฏิบัติการพยาบาลตามหลักฐานเชิงประจักษ์ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับการปฏิบัติการดูแลการคลอดปกติตามหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r= .322 และ r= .416 ตามลําดับ) ส่วนทัศนคติต่อการปฏิบัติการพยาบาลตามหลักฐานเชิงประจักษ์ไม่มีความสัมพันธ์การปฏิบัติการดูแลการคลอดปกติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ (r= -1.00, p = .279) ผลการวิจัยเสนอแนะว่า ผู้บริหารควรส่งเสริมให้พยาบาลห้องคลอดมีความรู้ในการปฏิบัติการพยาบาลตามหลักฐานเชิงประจักษ์และให้การสนับสนุนแก่พยาบาลเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานโดยการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการพัฒนาคุณภาพการดูแลของงานห้องคลอดต่อไป