Abstract:
หญิงตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพการนอนหลับไม่ดีส่งผลเสียต่อสุขภาพมารดาและทารกในครรภ์ การวิจัยเชิงพรรณนาแบบหาความสัมพันธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอายุ อายุครรภ์ และความรุนแรงของอาการไม่สุขสบายทางกาย กับคุณภาพการนอนหลับในหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มตัวอย่างในการศึกษา คือ หญิงตั้งครรภ์ปกติที่มีอายุครรภ์ในระยะไตรมาสที่สองและไตรมาสที่สามมารับบริการฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี จํานวน 132 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยใช้การสุ่มตัวอย่างแบบง่ายเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลและการตั้งครรภ์ แบบสอบถามอาการไม่สุขสบายทางกายขณะตั้งครรภ์ และแบบประเมินคุณภาพการนอนหลับของมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาและสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ผลการวิจัยพบว่า ร้อยละ 94.7 ของหญิงตั้งครรภ์ มีคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี โดยความรุนแรงของอาการไม่สุขสบายทางกาย มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติกับคุณภาพการนอนหลับ (r = .533, p < .001) ส่วนอายุและอายุครรภ์ของหญิงตั้งครรภ์ไม่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพการนอนหลับ (r = -.100, p = .255; r = .124, p = .156) ผลการศึกษานี้ช่วยให้พยาบาลและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ มีองค์ความรู้เกี่ยวกับปัญหาการนอนหลับและปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพการนอนหลับในหญิงตั้งครรภ์ปกติ และสามารถนําไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการออกแบบการปฏิบัติการพยาบาล เพื่อส่งเสริมคุณภาพการนอนหลับในหญิงตั้งครรภ์ต่อไป