Abstract:
ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือโครงสร้างครอบครัว ซึ่งปัจจุบัน พบว่า มีโครงสร้างครอบครัวแบบครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวระหว่างครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยายในตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองจังหวัดชลบุรีกลุ่มตัวอย่าง คือตัวแทนครอบครัวเดี่ยว และขยายครอบครัวละ 60คน เลือกกลุ่มตัวอย่างโดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลทั่วไปของตัวแทนครอบครัว และแบบสอบถามครอบครัวอยู่ดีมีสุขวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนาและการทดสอบที ผลการวิจัยพบว่า ความอยู่ดีมีสุขโดยรวมของครอบครัวเดี่ยวสูงกว่าครอบครัวขยายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05) เมื่อจำแนกรายด้านพบว่า ค่าคะแนนเฉลี่ยด้านการทำหน้าที่ตามบทบาทที่เหมาะสม ด้านสัมพันธภาพในครอบครัวและด้านการเกื้อกูลสังคมอย่างมีคุณธรรม ครอบครัวเดี่ยวมีค่าคะแนนเฉลี่ยมากกว่าครอบครัวขยายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05) ยกเว้น ด้านการพึ่งพาตนเอง พบว่า ครอบครัวเดี่ยวมีค่าคะแนนเฉลี่ยน้อยกว่าครอบครัวขยายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05) ผลการศึกษานี้ให้ข้อเสนอแนะว่า พยาบาลครอบครัวในระดับปฐมภูมิหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ควรเน้นสนับสนุนส่งเสริมสมาชิกครอบครัวเดี่ยวให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ดีขึ้น ส่วนครอบครัวขยายควรพัฒนาการทำหน้าที่ตามบทบาทที่เหมาะสม ส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดีของครอบครัว และการเกื้อกูลสังคมของครอบครัวให้ดีขึ้น อันจะส่งผลให้ครอบครัวอยู่ดีมีสุขมากขึ้นต่อไป