Abstract:
ระบบการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองเพื่อบรรเทาอาการทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยเป็นหัวใจสําคัญของการพยาบาลผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิต การวิจัยเชิงพรรณนาแบบเปรียบเทียบครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอาการทุกข์ทรมาน ความต้องการการดูแล และการพยาบาลที่ได้รับของผู้ป่วยระยะประคับประคองที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลกลุ่มตัวอย่างคัดเลือกแบบสะดวกเป็นผู้ป่วย ระยะประคับประคองที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดลพบุรีที่มีคุณลักษณะตามกำหนด จํานวน 90 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์อาการทุกข์ทรมาน ความต้องการ การดูแลและการพยาบาลที่ได้รับของผู้ป่วยมีค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาทั้งสามเครื่องมือเท่ากัน คือ .83 และค่าความเชื่อมั่นของแอลฟาครอนบาคเท่ากับ .76, .77 และ .75 ตามลําดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนาและการทดสอบที ผลการวิจัยพบว่า คะแนนเฉลี่ยโดยรวมของอาการทุกข์ทรมาน ความต้องการการดูแล และการพยาบาลที่ได้รับในช่วงแรกรับเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเท่ากับ 3.40 (SD = 2.90), 3.63 (SD = 2.82) และ 3.74 (SD = 3.07) ตามลําดับ และในช่วงก่อนกลับบ้าน เท่ากับ 0.39 (SD = 0.60), 0.42 (SD = 0.68) และ 0.44 (SD = 0.71) ตามลําดับ คะแนนเฉลี่ยอาการทุกข์ทรมานระหว่างช่วงแรกรับเข้ากับช่วงก่อนกลับบ้าน แตกต่างกันอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ (t = 23.22, p< .001) ในช่วงแรกรับเข้า มีคะแนนเฉลี่ยความต้องการการดูแลและการพยาบาลที่ได้รับแตกต่างกันอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ (t= -2.58, p< .05) และในช่วงก่อนกลับบ้าน มีคะแนนเฉลี่ยความต้องการการดูแลและการพยาบาลที่ได้รับแตกต่างกันอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ (t= -2.88, p< .01) ผลการวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะว่า พยาบาลควรประเมินอาการทุกข์ทรมาน ความต้องการการดูแล และการพยาบาลที่ได้รับตั้งแต่แรกรับเข้าพักรักษาตัวและก่อนกลับบ้าน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบ การจัดการเพื่อบรรเทาอาการ ติดตาม ส่งต่อ และสรุปผลการรักษาพยาบาลรวมทั้งการวิจัยต่อยอดด้วย การทําวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อพัฒนาไปสู่แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ