Abstract:
การบริโภคผักและผลไม้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต และพัฒนาการตามวัยของเด็กวัยเรียน การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการบริโภคผักและผลไม้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา กรุงเทพมหานครกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร ปีการศึกษา 2560 จำนวน 185 คน โดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม ประกอบด้วยข้อมูลทั่วไป ความรู้เรื่องผักและผลไม้ทัศนคติต่อการบริโภคผักและผลไม้การเข้าถึงแหล่งที่เอื้อต่อการบริโภค ผักและผลไม้อิทธิพลของผู้ปกครองต่อการบริโภคผักและผลไม้อิทธิพลของกลุ่มเพื่อนต่อการบริโภคผักและผลไม้การได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผักและผลไม้และการบริโภคผักและผลไม้ของนักเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาและการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการวิจัย พบว่า นักเรียนบริโภคผักและผลไม้สัปดาห์ละ 4-6 วัน ปัจจัยที่สามารถร่วมทำนายการบริโภคผักและผลไม้ของนักเรียน (FVC) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือการจัดเตรียมอาหารของผู้ปกครอง (PPP) (β = .376) รองลงมาคือการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผักและผลไม้ (INF) (β = .286) และทัศนคติต่อการบริโภคผักและผลไม้ (ATT) (β = .171) มีอำนาจการทำนายร่วมร้อยละ 31.8 (R 2 = .318) ผลการิจัยนี้เสนอแนะว่า การส่งเสริมให้เด็กวัยเรียนบริโภคผักและผลไม้ควรเน้นการจัดเตรียมผักและผลไม้เพื่อให้เอื้อต่อการบริโภคการให้ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนส่งเสริมทศันคติที่ดีต่อการบริโภค