Abstract:
การฝากครรภ์มีความจำเป็นสำหรับหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยสาเหตุของการฝากครรภ์ครั้งแรกล่าช้าของหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นในชุมชนใช้กรอบแนวคิดอิทธิพล 3 องค์ประกอบของเฟรห์ (TTI, Fray & Petraitis,1994) รูปแบบการศึกษาเป็น Case-control study กลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นอายุน้อยกว่า 20 ปี ที่มารับบริการฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดนครปฐม จำนวน 220 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มศึกษา (Case) คือ หญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นที่มารับบริการฝากครรภ์หลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ จำนวน 110 ราย และกลุ่มเปรียบเทียบ (Control) คือ หญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นที่มารับบริการฝากครรภ์ภายในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ จำนวน 110 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลแบบวัดความตั้งใจตั้งครรภ์แบบวัดการรับรู้ความสามารถในการมาฝากครรภ์ แบบวัดความรู้เกี่ยวกับการฝากครรภ์แบบวัดเจตคติต่อการตั้งครรภ์และการฝากครรภ์ และแบบสอบถามการยอมรับการตั้งครรภ์ของคู่สมรส/คู่รักครอบครัวและชุมชน โดยแบบวัดความรู้เกี่ยวกับการฝากครรภ์มีค่า KR-20 (Kuder Richardson-20) เท่ากับ .81 ส่วนแบบวัดอื่นมีค่าครอนบาคอัลฟา 0.70 ถึง 0.97 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และ Binary logistic regression ผลการวิจัย พบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการมาฝากครรภ์ครั้งแรกช้าของหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติ ได้แก่ การยอมรับการตั้งครรภ์จากชุมชน (ORadj=18.00,95% CI = 5-12-63.27) การยอมรับการตั้งครรภ์จากครอบครัว (ORadj=15.37, 95% CI=5.27-44.80) ความรู้เกี่ยวกับการฝากครรภ์ (ORad= 11.81, 95% CI=4.16-33.50) การรับรู้ความสามารถในการฝากครรภ์ (ORadj = 9.15, 95% CI=3.02-27.72) และเจตคติต่อการตั้งครรภ์และการฝากครรภ์(ORadj= 4.54, 95% CI=1.51-13.63) จากผลการวิจัยเสนอแนะว่า พยาบาลเวชปฏิบัติชุมชนควรมีการดำเนินงานเชิงรุก ในการจูงใจให้หญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นมาฝากครรภ์ภายใน 12 สัปดาห์แรกที่ตั้งครรภ์โดยเน้นการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการฝากครรภ์และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการฝากครรภ์แก่หญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น ครอบครัวและชุมชน