Abstract:
ความเครียดของสมาชิกครอบครัวผู้ป่วยวิกฤตเป็นสภาวะวิกฤตด้านจิตใจที่ควรได้รับการดูแลและประคับประคอง การวิจัยแบบกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของจิตบำบัดแบบประคับประคองรายบุคคลต่อความเครียดของสมาชิกครอบครัวผู้ป่วยวิกฤตที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรม กลุ่มตัวอย่าง คือ สมาชิกครอบครัวผู้ป่วยวิกฤตที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรมโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ จำนวน 20 คน ใช้วิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 10 คน กลุ่มทดลองได้รับการพยาบาลตามปกติและจิตบำบัดแบบประคับประคองรายบุคคล จำนวน 5 ครั้ง ๆ ละ 1 วัน นานประมาณ 60-90 นาที ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย ข้อมูลส่วนบุคคล และแบบวัดความเครียดของสมาชิกครอบครัว ผู้ป่วยวิกฤต วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติทดสอบค่าที ผลการวิจัยพบว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการทดลอง กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความเครียดลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .001) ในกลุ่มทดลอง คะแนนเฉลี่ย ความเครียดภายหลังการทดลองเสร็จสิ้นทันทีลดลงมากกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ (p< .001) ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า จิตบำบัดแบบประคับประคองรายบุคคลนี้มีประสิทธิภาพพยาบาลและบุคลากรทางสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ควรประยุกต์รูปแบบของจิตบำบัดแบบประคับประคองรายบุคคลนี้ไปใช้เพื่อลดความเครียดให้กับสมาชิกครอบครัวผู้ป่วยที่มีลักษณะทำนองเดียวกันนี้