Abstract:
การแสดงออกทางอารมณ์ด้านลบของผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการฟื้นหาย และการกลับมารักษาซ้ำในโรงพยาบาลของผู้ป่วยการวิจัยเชิงพรรณนาเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงทำนายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับการแสดงออกทางอารมณ์ด้านลบของผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภท และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการแสดงออกทางอารมณ์ด้านลบของผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทจำนวน 120 ราย ที่ผู้ป่วยมารับบริการในโรงพยาบาลจิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ จังหวัดสระแก้ว คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มแบบง่าย เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลแบบประเมินการแสดงออกทางอารมณ์ด้านลบ แบบสอบถามการรับรู้ความรุนแรงของอาการทางจิต แบบประเมินการรับรู้ภาระในการดูแล แบบสอบถามการเผชิญความเครียดแบบมุ่งจัดการกับปัญหาแบบสอบถามการเผชิญความเครียดแบบมุ่งปรับอารมณ์ และแบบประเมินสัมพันธภาพในครอบครัว แบบสอบถามเหล่านี้มีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค เท่ากับ .85, .89, .95, .78, .78 และ .84 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการศึกษาพบว่า ผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทมีการแสดงออกทางอารมณ์ด้านลบอยู่ในระดับปานกลาง ( ̅= 47.79, SD = 10.94) ผลการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน พบว่า การรับรู้ภาระการดูแล การเผชิญความเครียดแบบมุ่งปรับอารมณ์ และสัมพันธภาพในครอบครัวร่วมกันทำนายการแสดงออกทางอารมณ์ด้านลบของผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทได้ร้อยละ 45.50 (R 2 = .455, Fdf= 32.22, p< .05) โดยตัวแปรที่สามารถทำนายการแสดงออกทางอารมณ์ด้านลบของผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทได้สูงสุดคือ การรับรู้ภาระการดูแล ( = .51, p< .001) รองลงมาคือ การเผชิญความเครียดแบบมุ่งปรับอารมณ์ ( = .18, p< .05) และสัมพันธภาพในครอบครัว ( = -.18, p< .05) จากผลการวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะว่า บุคลากรด้านสุขภาพควรพัฒนาโปรแกรมที่ลดการรับรู้ภาระการดูแล ลดการเผชิญความเครียดแบบมุ่งปรับอารมณ์ ตลอดจนส่งเสริมสัมพันธภาพในครอบครัว ซึ่งจะช่วยลดการแสดงออกทางอารมณ์ด้านลบของผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทได้