Abstract:
ความสุขของผู้สูงอายุเป็นเครื่องบ่งชี้ที่สำคัญในการดำเนินชีวิต และเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยการวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาความสัมพันธ์เชิงทำนายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสุขและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสุขของผู้สูงอายุในชุมชน เขตตำบลปลวกแดง จังหวัดระยองกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด จำนวน 107 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มแบบง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งได้เป็น 6 ส่วน ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบวัดความสุข 3) แบบวัดการรับรู้ความสามารถของตน 4) แบบวัดการมองโลกในแง่ดี 5) แบบวัดพลังสุขภาพจิต 6) แบบวัดสัมพันธภาพในครอบครัว ซึ่งค่าความเชื่อมั่นของแบบวัดที่ 2-5 เท่ากับ .82, .80, .70, .80 และ .82 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุมีความสุขอยู่ในระดับสูง (M= 4.72,SD= .18) ผลการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน พบว่า การมองโลกในแง่ดีและพลังสุขภาพจิตสามารถร่วมกัน ทำนายความสุขของผู้สูงอายุในงานวิจัยนี้ได้ร้อยละ 18.6 โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสุขของผู้สูงอายุมากที่สุด ได้แก่ การมองโลกในแง่ดี (β = -.728, p< .001) รองลงมาคือ พลังสุขภาพจิต (β = .202, p< .01) ส่วนการรับรู้ความสามารถของตน และสัมพันธภาพในครอบครัวไม่สามารถทำนายความสุขได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>.05) ผลการศึกษาในครั้งนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งพยาบาลในการวางแผนหรือออกแบบโปรแกรมเพื่อส่งเสริมความสุขของผู้สูงอายุ โดยเน้นการส่งเสริมการมองโลกในแง่ดีและพลังสุขภาพจิตของผู้สูงอายุเหล่านี้