Abstract:
ความฉลาดทางอารมณ์เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับนักศึกษาพยาบาลที่ช่วยส่งเสริมความสามารถในการปรับตัวเมื่อต้องเผชิญกับ สถานการณ์ที่กดดันอันเป็นการช่วยเสริมสร้างภาวะสุขภาพจิตที่ดีการวิจัยแบบกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ต่อภาวะสุขภาพจิตของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุพรรณบุรี ปีการศึกษา 2560 และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 52 คน โดยใช้วิธีการสุ่มอย่างง่ายแบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองกลุ่มละ 26 คน เครื่องมือวิจัยประกอบด้วยแบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลแบบประเมินภาวะสุขภาพจิต ซึ่งได้ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค เท่ากับ 0.80 และโปรแกรมเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ประกอบด้วยกิจกรรมกลุ่มที่เสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ จำนวน 8 ครั้ง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลนักศึกษาตามระบบการดูแลปกติดำเนินการทดลองระหว่างเดือนมกราคม ถึง เดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาการทดสอบค่าทีการวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทางแบบวัดซ้ำ และการเปรียบเทียบรายคู่ด้วยวิธีบอนเฟอโรนี ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยภาวะสุขภาพจิตในระยะหลังการทดลองเสร็จสิ้นทันทีและระยะติดตามผล 1 เดือนต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยภาวะสุขภาพจิตของนักศึกษาพยาบาลในระยะหลังการทดลองเสร็จสิ้นทันที (X = 8.35, SD = 2.17) และระยะติดตามผล 1 เดือน (X = 6.96, SD = 2.73) ต่ำกว่าระยะก่อนการทดลอง (X = 10.42, SD = 3.04) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า โปรแกรมเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์สามารถช่วยลดปัญหาสุขภาพจิตของนักศึกษาพยาบาลได้ดังนั้นพยาบาลหรือบุคลากรทางด้านสาธารณสุขจึงควรนำโปรแกรมฯ ไปประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมภาวะสุขภาพจิตของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีอื่นหรือนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอื่นต่อไป