Abstract:
ภาวะซึมเศร้าในผู้ที่รอรับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับเป็นปัญหาที่สำคัญ ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคซึมเศร้าได้การบำบัดทางปัญญาบนพื้นฐานของสติในการดูแลบุคคลที่มีภาวะซึมเศร้าเป็นโปรแกรมการช่วยเหลือที่มุ่งเน้นให้เกิดความกลมกลืนของกายและจิตด้วยการฝึกสติเพื่อปรับโครงสร้างทางความคิด การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการบำบัดทางปัญญาบนพื้นฐานของสติต่อภาวะซึมเศร้ากลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้ป่วยที่รอรับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ จำนวน 20 คน สุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 10 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการบำบัดทางปัญญาบนพื้นฐานของสติ จำนวน 6 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 คร้ัง คร้ังละ 60-90 นาที ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาล ตามปกติเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วยข้อมูลส่วนบุคคลและแบบประเมินภาวะซึมเศร้าของเบค (BDI-IA) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณา สถิติค่าทีการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ และการทดสอบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีของบอนเฟอโรนี ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยภาวะซึมเศร้าแตกต่างกับกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทั้งในระยะหลังการทดลองเสร็จสิ้นทันที และระยะติดตามผล 2 สัปดาห์กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยภาวะซึมเศร้าในระยะก่อนการทดลอง หลังการทดลองเสร็จสิ้นทันทีและระยะติดตามผล 2 สัปดาห์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าโปรแกรมการบำบัดทางปัญญาบนพื้นฐานของสติแบบกลุ่มสามารถลดภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยที่รอรับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับได้พยาบาลและบุคลากรทางด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้อง สามารถประยุกต์ใช้โปรแกรมการบำบัดทางปัญญาบนพื้นฐานของสติ แบบกลุ่มนี้เพื่อลดภาวะซึมเศร้าให้กับผู้ป่วยที่รอรับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ และประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยที่รอรับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะอื่น ๆ ที่มีภาวะซึมเศร้าต่อไป