Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการติดต่อสื่อสารของผู้บริหารสถานศึกษาและ ครูหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ของโรงเรียนเมืองพัทยา 2 (เจริญราษฎร์อุทิศ) จังหวัดชลบุรี และ เพื่อหาแนวทางพัฒนาการติดต่อสื่อสารของผู้บริหารสถานศึกษาและหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ ของโรงเรียนเมืองพัทยา 2 (เจริญราษฎร์อุทิศ) จังหวัดชลบุรี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ บุคลากรในโรงเรียนเมืองพัทยา 2 (เจริญราษฎร์อุทิศ) จำนวน 60 คน ซึ่งกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่าง คิดสัดส่วนโดยใช้ตารางเครจซี่ และมอร์แกน (Krejcie & Morgan) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 40 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูล ประกอบด้วย ค่าเฉลี่ย (X) ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) ผลการวิจัยพบว่า การติดต่อสื่อสารของผู้บริหารสถานศึกษาและครูหัวหน้ากลุ่มสาระ การเรียนรู้ของโรงเรียนเมืองพัทยา 2 (เจริญราษฎร์อุทิศ) จังหวัดชลบุรี ในภาพรวม อยู่ในระดับมาก โดยแบบมีระเบียบมากที่สุด รองลงมา คือ แบบสั่งการ แบบเห็นอกเห็นใจ และแบบมีชีวิตชีวา ตามลำดับ เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า การติดต่อสื่อสารมีจุดด้อย ที่ต้องมีการพัฒนาให้ดีขึ้นจากผู้เชี่ยวชาญด้วยการสัมภาษณ์ทั้งหมด 12 ประเด็น ได้แก่ 1) มีการควบคุมติดตามนิเทศการทำงานอย่างเคร่งครัด 2) พูดตรงกับข้อมูลที่ต้องการสื่อสารในการมอบหมายงาน 3) เปิดโอกาสให้สอบถามข้อสงสัย 4) ติดต่อพูดคุยด้วยการพูดเสียงสูง-เสียงต่ำ ขึ้นลงอยู่เสมอทำให้ไม่รู้สึกน่าเบื่อ 5) มีการแสดงออกทางความรู้สึกในระดับสูง 6) สามารถพูดจูงใจได้ดีทำให้ครูมีกำลังใจในการปฏิบัติงาน 7) มีการพูดจาแบบประนีประนอม ทำให้เกิดความสบายใจในการติดต่อพูดคุย 8) สร้างบรรยากาศครอบครัวในการติดต่อสื่อสาร 9) ควบคุมติดตามงานด้วยความเห็นอกเห็นใจ เมื่อเกิดการผิดพลาด 10) ปฏิบัติงานอย่างมีระเบียบวินัยที่ชัดเจน ทำให้เกิดความเข้าใจดีในการปฏิบัติตามระเบียบที่ได้กำหนดไว้ 11) มักจะอ้างถึงบทลงโทษประกอบกับการออกคำสั่ง และ 12) มักจะใช้การเสนอรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรในการติดต่อสื่อสาร