Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและหาแนวทางการพัฒนาการบริหารความขัดแย้ง ในโรงเรียนกลุ่มบางละมุง 2 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3 จำแนกตามเพศ อายุ ประสบการณ์ในการทำงาน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ บุคลากรในโรงเรียน กลุ่มบางละมุง 2 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3 ในปีการศึกษา 2560 กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างตามตารางของเครจซี่ และมอร์แกน (Krejcie & Morgan, 1970, pp. 608-609) ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 108 คน เครื่องมือที่ใช้ในการการวิจัยครั้งนี้ เป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale) ได้ค่าอำนาจจำแนกระหว่าง .41-.85 มีค่าความเชื่อมั่น ทั้งฉบับ เท่ากับ .96 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าคะแนนเฉลี่ย ( ) ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) การทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) เมื่อพบความแตกต่างจะทำการทดสอบรายคู่ โดยวิธีของเชฟเฟ่ (Sheffe’s method) ผลการวิจัยพบว่า 1. ปัญหาความขัดแย้งของบุคลากรในโรงเรียนกลุ่มบางละมุง 2 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3 โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก 2. การเปรียบเทียบปัญหาความขัดแย้งของบุคลากรในโรงเรียนกลุ่มบางละมุง 2 สังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3 จำแนกตามเพศ โดยรวมและรายด้าน แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญ ทางสถิติ ยกเว้น ด้านปฏิสัมพันธ์ในการทำงาน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. การเปรียบเทียบปัญหาความขัดแย้งของบุคลากรในโรงเรียนกลุ่มบางละมุง 2 สังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3 จำแนกตามอายุ โดยรวมและรายด้าน แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญ ทางสถิติ ยกเว้น สภาพองค์การ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4. การเปรียบเทียบปัญหาความขัดแย้งของบุคลากรในโรงเรียนกลุ่มบางละมุง 2 สังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3 จำแนกตามประสบการณ์ในการทำงาน โดยรวมและรายด้าน แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 5. แนวทางการพัฒนาการบริหารความขัดแย้ง ผู้บริหารควรจัดการความขัดแย้งด้วยความเด็ดขาด โดยอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล พร้อมสร้างแนวทางการทำงานร่วมกัน พยายามที่จะทำให้ผู้ร่วมงานยอมรับ การกระทำตามเงื่อนไขข้อตกลงของส่วนรวม พยายามหลีกเลี่ยงการแสดงความเห็นที่นำไปสู่ความขัดแย้ง และจะต้องพยายามเสนอเรื่องราวที่ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ร่วมงานคนใดคนหนึ่ง