Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของครู ภาวะผู้นำของผู้บริหารและประสิทธิผลของโรงเรียน ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของครูและภาวะผู้นำของผู้บริหารกับประสิทธิผลของโรงเรียน ศึกษาปัจจัยแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของครู ภาวะผู้นำของผู้บริหารที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของโรงเรียน และเพื่อสร้างสมการพยากรณ์ประสิทธิผลของโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 9 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ข้าราชการครูในปีการศึกษา 2559 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 9 จำนวน 338 คน จากตารางกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างของ Krejcie and Morgan และใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นตามขนาดโรงเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ซึ่งมีทั้งหมด 3 ตอน มีค่าอำนาจจำแนกรายข้ออยู่ระหว่าง .28 - .83มีค่า ความเชื่อมั่นเท่ากับ .93, .90, และ .92 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ คะแนนเฉลี่ย ( ) ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson’s product moment correlation) และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบเป็นขั้นตอน (Stepwise multiple regression analysis) ผลการวิจัยพบว่า 1. แรงจูงใจในการปฏิบัติงานของครูของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 9 โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมากทุกด้าน 2. แรงจูงใจในการปฏิบัติงานของครูและภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษามีความสัมพันธ์ทางบวกกับประสิทธิผลของโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 9 ในระดับสูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 3. ปัจจัยจูงใจในการปฏิบัติงานของครู และภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษา ส่งผลทางบวกต่อประสิทธิผลของโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต9 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 4. สมการพยากรณ์ประสิทธิผลของโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 9 ได้ร้อยละ 73.60 โดยเขียนในรูปสมการคะแนนดิบและมาตรฐานได้ ดังนี้ Y^ = .813 + .313X22 + .093X13 + .182X21 + .094X15 + .131X11 Z^ = .408X22 + .099X13 + .216X21 + .140X15 + .128X11