Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการปรึกษากลุ่มทฤษฎีเผชิญความจริง ต่อพฤติกรรมการติดสมาร์ทโฟนของนิสิตปริญญาตรี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือนิสิตปริญญาตรี มหาวิทยาลัยบูรพา ปีการศึกษา 2561 ที่มีคะแนนจากการทำแบบทดสอบในระดับมากและสมัครใจเข้าร่วมการทดลอง จำนวน 20 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทดลอง 10 คน และกลุ่มควบคุม 10 คน การแบ่งกลุ่มจะใช้การสุ่มเลือก โดยวิธีการจับฉลาก เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองคือ แบบทดสอบการติดสมาร์ทโฟน และโปรแกรมการปรึกษากลุ่มทฤษฎีเผชิญ ความจริงที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น กลุ่มทดลองได้รับการปรึกษากลุ่มทฤษฎีเผชิญความจริง จำนวน 10 ครั้ง ครั้งละ 45-60 นาที ดำเนินการทดลองสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 4 สัปดาห์ โดยใช้แบบแผน การวิจัยเชิงทดลองสองตัวประกอบแบบวัดซ้ำหนึ่งตัวประกอบ แบ่งการทดลองออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะก่อนการทดลอง ระยะหลังทดลองและระยะติดตามผล สถิติที่ใช้ทำการวิเคราะห์ ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำประเภทหนึ่งตัวแปรระหว่างกลุ่มและหนึ่งตัวแปรภายในกลุ่ม และทดสอบความแตกต่างรายคู่โดยวิธีนิวแมน-คูลส์ ผลการศึกษา พบว่า มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิธีการทดลองและระยะเวลาการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นิสิตปริญญาตรีในกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมการติดสมาร์ทโฟน แตกต่างจากกลุ่มควบคุมในระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนิสิตปริญญาตรีในกลุ่มทดลองมีพฤติกรรมการติดสมาร์ทโฟนในระยะหลังทดลองและระยะติดตามผลต่ำกว่าระยะก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05