Abstract:
ศึกษาความหลากหลายความถี่ของการพบและปริมาณกรดไขมันในทรอสโทไคตริดส์ที่คัดแยก จากใบไม้จำนวน 12 ชนิด ที่ร่วงหล่นบริเวณป่าชายเลนทุ่งโปรงทอง จังหวัดระยอง ในฤดูแล้งและฤดูฝน พบทรอสโทไคตริดส์ที่จำแนกได้ 3 จีนัส (7 สปีชีส์) ได้แก่ จีนัส Aurantiochytrium จำนวน 5 สปีชีส์ (Aurantiochytrium sp.1, Aurantiochytrium sp.2, Aurantiochytrium sp.3, Aurantiochytrium sp.4 และ Aurantiochytrium sp.5) จีนัส Parietichytrium จำนวน 1 สปีชีส์ (Parietichytrium sp.) จีนัส Schizochytrium จำนวน 1 สปีชีส์ (Schizochytrium sp.2) และทรอสโทไคตริดส์ที่ไม่สามารถจำแนกได้ 2 กลุ่มคือ Thraustochytriidae 8 และ Thraustochytriidae 9 ความถี่ของการพบทรอสโทไคตริดส์ช่วงฤดูฝน และฤดูแล้งมีค่า 2.5-52.5 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ โดยฤดูฝนมีความถี่ของการพบมากกว่า ฤดูแล้ง เมื่อพิจารณาจากชีวมวลของทรอสโทไคตริดส์มีค่าเฉลี่ยอยู่ในช่วง 15.63±3.03-22.87±0.80 กรัมต่อลิตร โดย Aurantiochytrium sp.1 มีชีวมวลเฉลี่ยสูงสุด สำหรับปริมาณกรดไขมัน พบว่า Aurantiochytrium sp.1 มีปริมาณเออาร์เอ (Arachidonic acid, 20:4 n-6, ARA) และอีพีเอ (Eicosapentaenoic acid, 20:5 n-3, EPA) เฉลี่ยสูงสุดเท่ากับ 0.43±0.20 มิลลิกรัมต่อกรัมน้ำหนักแห้ง (0.1±0.04 เปอร์เซ็นต์ของกรดไขมันทั้งหมด) และ1.67±1.17 มิลลิกรัมต่อกรัมน้ำหนักแห้ง (0.35±0.20 เปอร์เซ็นต์ของกรดไขมันทั้งหมด) ตามลำดับส่วน Aurantiochytrium sp.3 มีกรดไขมันดีพีเอ (Docosapentaenoic acid, 22 :5 n-6, DPA) และดีเอชเอ (Docosahexaenoic acid, 22:6 n-3, DHA) สูงสุดเท่ากับ 39.40±6.17 มิลลิกรัมต่อกรัมน้ำหนักแห้ง (8.06±0.53 เปอร์เซ็นต์ของกรดไขมันทั้งหมด) และ 137.23±25.61 มิลลิกรัมต่อกรัมน้ำหนักแห้ง (31.68±2.72 เปอร์เซ็นต์ของกรดไขมันทั้งหมด) ตามลำดับ สายพันธุ์ Aurantiochytrium sp.1 เป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมต่อไป