Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาและกำหนดองค์ประกอบชุมชนการเรียนรู้ ทางวิชาชีพในโรงเรียนประถมศึกษา 2) วิเคราะห์ความต้องการจำเป็นในการพัฒนาสู่ชุมชน การเรียนรู้ทางวิชาชีพในโรงเรียน 3) พัฒนารูปแบบชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพด้วยกระบวนการวิจัยปฏิบัติการแบบร่วมมือร่วมพลังในโรงเรียนประถมศึกษา 4) ศึกษาผลของรูปแบบการพัฒนาชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพด้วยกระบวนการวิจัยปฏิบัติการแบบร่วมมือร่วมพลัง ในโรงเรียนประถมศึกษา ระเบียบวิธีที่ใช้ในการวิจัย คือ การวิจัยและพัฒนา กลุ่มตัวอย่าง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มตัวอย่างทั่วไป เป็นครูผู้สอนในโรงเรียนระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ปีการศึกษา 2560 จำนวน 810 คนจาก 162 โรงเรียน โดยใช้การสุ่มตัวอย่างแบบสองขั้นตอน และ 2) กลุ่มตัวอย่าง ที่เป็นกรณีศึกษา ประกอบด้วยครูผู้สอนโรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 18 คน จาก 1 โรงเรียน ผลการวิจัยที่สำคัญสรุปได้ดังนี้ 1. องค์ประกอบชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ระดับและ 9 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) ระดับศักยภาพของบุคคล ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบคือ 1.1) การสร้างความรู้เชิงรุกและเชิงสะท้อนผล 1.2) ความเป็นปัจจุบันและเท่าทันยุคสมัย (2) ระดับศักยภาพระหว่างบุคคล ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบคือ 2.1) การมีวิสัยทัศน์และค่านิยมร่วมกัน 2.2) การเรียนรู้ร่วมกัน 2.3) การร่วมกันแบ่งปันวิธีการปฏิบัติงาน 2.4) การร่วมกันสะท้อนผล (3) ระดับศักยภาพขององค์กร ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบคือ 3.1) ปัจจัยสนับสนุนทางโครงสร้าง 3.2)ปัจจัยสนับสนุนทางสังคม 3.3) การสนับสนุน ส่งเสริมด้านภาวะผู้นำร่วมองค์ประกอบ มีความตรงเชิงโครงสร้างตามผลการวิเคราะห์โมเดลความสัมพันธ์พหุมิติ พหุระดับแบ่งเป็น ระดับบุคคล และระดับหน่วยงาน (โรงเรียน) มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ค่าไคสแควร์ เท่ากับ 260.844, df=49,p= .425, = 1.022, RMSEA = 0.073, CFI= 0.950, TLI =0.927,SRMRw= 0.046, SRMRb = 0.068 2. การประเมินความต้องการจำเป็นการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพในโรงเรียนกรณีศึกษาพบว่าองค์ประกอบหลักที่มีความต้องการจำเป็นสูงสุด ได้แก่ องค์ประกอบระดับศักยภาพของบุคคล รองลงมา คือองค์ประกอบระดับศักยภาพระหว่างบุคคล และองค์ประกอบระดับศักยภาพขององค์กรตามลำดับ 3. รูปแบบชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพด้วยกระบวนการวิจัยปฏิบัติการแบบร่วมมือ ร่วมพลังในโรงเรียนประถมศึกษาประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ 3 ขั้นตอน คือ (1) การพัฒนาศักยภาพ ของบุคคล โดยใช้การอบรม สัมมนาเชิงปฏิบัติการภายในโรงเรียน และการเรียนรู้ผ่าน การปฏิบัติงาน (2) การพัฒนาศักยภาพระหว่างบุคคล มีขั้นตอนสำคัญ 6 ขั้นที่มีลักษณะเป็นวงจร ได้แก่ 2.1) การตรวจตราปัญหาอย่างรอบด้าน 2.2) การกำหนดจุดมุ่งเน้นที่ชัดเจน 2.3) การวางแผนการแก้ปัญหาร่วมกัน 2.4) การปฏิบัติตามแผนที่กำหนด 2.5) การสังเกตผล 2.6) การร่วมกันสะท้อนผลและปรับปรุงแก้ไข (3) การพัฒนาศักยภาพขององค์กร โดยการเตรียมความพร้อมด้านปัจจัยสนับสนุนทั้งด้านโครงสร้าง การสนับสนุนทางสังคมและการสนับสนุนด้านภาวะผู้นำ 4. ผลการทดลองสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพในโรงเรียนตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้นในโรงเรียนที่เป็นกรณีศึกษา พบว่า หลังจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นกรณีศึกษาเข้าร่วมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ มีระดับการปฏิบัติในทุกองค์ประกอบของชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพอยู่ในระดับมากโดยด้านศักยภาพบุคคล มีองค์ประกอบการสร้างองค์ความรู้เชิงรุกและเชิงสะท้อนผลมีระดับ การปฏิบัติสูงสุด ด้านศักยภาพระหว่างบุคคล องค์ประกอบการมีวิสัยทัศน์และค่านิยมร่วมกัน มีระดับการปฏิบัติสูงสุด และด้านศักยภาพขององค์กร มีองค์ประกอบปัจจัยสนับสนุนทางสังคม มีระดับการปฏิบัติสูงสุด