Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความต้องการจำเป็นและกำหนดองค์ประกอบของรูปแบบ การนำกลยุทธ์ส่งเสริมค่านิยม 12 ประการสู่การปฏิบัติ ของโรงเรียนระดับประถมศึกษา ในสังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูทั่วไป และครูผู้ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานด้านค่านิยม 12 ประการ จำนวน 348 คน และผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 8 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบประเมินความต้องการจำเป็นในการนำกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ และแบบสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ 2) เพื่อสร้างและตรวจสอบรูปแบบการนำกลยุทธ์ส่งเสริมค่านิยม 12 ประการสู่การปฏิบัติ โดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน เป็นผู้ประเมินคุณภาพรูปแบบ และ 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการนำกลยุทธ์ส่งเสริมค่านิยม 12 ประการ สู่การปฏิบัติ กลุ่มตัวอย่างคือ โรงเรียนวัดบางฝ้าย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถามการนำกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ แบบประเมินความสามารถในการพัฒนาค่านิยม 12 ประการ และแบบประเมินพฤติกรรมด้านค่านิยม 12 ประการ การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัยและพัฒนา (Research and development) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ข้อมูลค่าสถิติพื้นฐาน ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) และ ค่า PNI แบบปรับปรุง (PNI modified) ผลการวิจัย พบว่า 1. ความต้องการจำเป็นในการพัฒนารูปแบบกลยุทธ์ส่งเสริมค่านิยม 12 ประการสู่การปฏิบัติ ได้แก่ มีการตรวจสอบความเหมาะสมของแผนให้พร้อม ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการนำไปปฏิบัติ (PNI modified = 0.29) และองค์ประกอบของรูปแบบ ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ บทนำ รูปแบบการนำ กลยุทธ์ส่งเสริมค่านิยม 12 ประการสู่การปฏิบัติ องค์ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบการนำกลยุทธ์ส่งเสริมค่านิยม 12 ประการสู่การปฏิบัติ และการนำรูปแบบไปใช้ 2. รูปแบบการนำกลยุทธ์ส่งเสริมค่านิยม 12 ประการสู่การปฏิบัติ มีคุณภาพโดยรวมอยู่ในระดับเหมาะสมมาก รายการประเมินที่มีระดับความเหมาะสมมากที่สุด 4 รายการ คือ ขอบเขตของรูปแบบ แนวคิดรูปแบบการนำกลยุทธ์ส่งเสริมค่านิยม 12 ประการสู่การปฏิบัติ องค์ประกอบของรูปแบบ และองค์ความรู้เกี่ยวกับค่านิยม 12 ประการ 3. ผลการใช้รูปแบบ พบว่า 1) โรงเรียนมีคุณภาพการนำกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง 2) ครูมีความรู้ความสามารถในการพัฒนาค่านิยม 12 ประการให้กับนักเรียน หลังการทดลอง สูงกว่าก่อนการทดลอง และ 3) นักเรียนมีพฤติกรรมด้านค่านิยม 12 ประการ หลังการทดลองสูงกว่าก่อน การทดลอง