Abstract:
การบำบัดโครงสร้างความคิดและการกำกับอารมณ์มีบทบาทสำคัญในการรับมือกับความวิตกกังวลซึ่งเป็นตัวแปรด้านจิตใจที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จของผู้เรียน การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโปรแกรมการบำบัดโครงสร้างความคิดร่วมกับการกำกับอารมณ์ (Schema Therapy with Emotional Regulation: STER) สำหรับลดความวิตกกังวลในการเรียนภาษาอังกฤษ และเปรียบเทียบผลของการลดความวิตกกังวลระหว่างการใช้โปรแกรมการบำบัดโครงสร้างความคิดร่วมกับการกำกับอารมณ์กับการใช้โปรแกรมการบำบัดโครงสร้างความคิด (Schema Therapy: ST) และกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับโปรแกรมใด ๆ กลุ่มตัวอย่างเป็นอาสาสมัครนักศึกษาปริญญาตรีจำนวน 72 คน ที่เรียนวิชาภาษาอังกฤษในหมวดศึกษาทั่วไปในปีการศึกษา 2559 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ๆ ละ 24 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย 1) เครื่องมือวัดทางจิตวิทยา ได้แก่ มาตรวัดความวิตกกังวลในการเรียนภาษาอังกฤษ และ 2) เครื่องมือวัดทางสรีรวิทยา ประกอบด้วย เครื่องวัดความดันโลหิตระบบดิจิตอล และเครื่องวัดความแปรปรวนอัตราการเต้นของหัวใจ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนหลายตัวแปร (MANOVA) ผลการวิจัยปรากฏว่า 1) โปรแกรมการบำบัดโครงสร้างความคิดร่วมกับการกำกับอารมณ์ (STER) ที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วยกิจกรรมการบำบัดโครงสร้างความคิดจำนวน 9 ครั้ง ใช้เวลาในการฝึกครั้งละ 50 นาทีร่วมกับกิจกรรมการฝึกการกำกับอารมณ์จำนวน 20 ครั้ง ใช้เวลาในการฝึกครั้งละ 20 นาทีโดยผู้ฝึกจะต้องปฏิบัติทั้งสองกิจกรรมควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่องรวม 20 วัน 2) ผลการเปรียบเทียบภายหลังการทดลองด้วยวิธีการทดสอบทางจิตวิทยาและสรีรวิทยาได้ผลสอดคล้องกันแสดงให้เห็นว่า ความวิตกกังวลในการเรียนภาษาอังกฤษของกลุ่มที่ใช้โปรแกรมการบำบัดโครงสร้างความคิดร่วมกับการกำกับอารมณ์ (STER) ต่ำกว่ากลุ่มที่ใช้โปรแกรมการบำบัดโครงสร้างความคิด (ST) และต่ำกว่ากลุ่มควบคุม (p < .01) และกลุ่มที่ใช้โปรแกรมการบำบัดโครงสร้างความคิด (ST) มีความวิตกกังวลในการเรียนภาษาอังกฤษต่ำกว่ากลุ่มควบคุม (p < .01) สรุปได้ว่าการใช้โปรแกรมการบำบัดโครงสร้างความคิดร่วมกับการกำกับอารมณ์ (STER) สามารถลดความวิตกกังวลในการเรียนภาษาอังกฤษได้และได้ผลดีกว่าการใช้เฉพาะโปรแกรมการบำบัดโครงสร้างความคิด (ST)