Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของพฤติกรรมการกลัวตกเทรนด์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจังหวัดชายแดนไทยกัมพูชา และตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลที่พัฒนาขึ้นกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ตัวแปรในโมเดลประกอบด้วย ตัวแปรแฝง 4 ตัวแปร ได้แก่ แรงจูงใจภายในการขาดแรงจูงใจ แรงจูงใจภายนอก และพฤติกรรมการกลัวตกเทรนด์ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจังหวัดชายแดนไทยกัมพูชา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 450 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ ในการเก็บข้อมูล คือ แบบสอบถามชนิดมาตรประมาณค่า 7 ระดับ วิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐานโดยใช้โปรแกรม SPSS และวิเคราะห์โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุโดยใช้โปรแกรม LISREL 9.30 (Student Edition) ผลการวิจัยปรากฏว่า โมเดลที่พัฒนาขึ้นมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ พิจารณาจากค่าสถิติไค-สแควร์ เท่ากับ 41.11 ค่า df เท่ากับ 39 ค่า p เท่ากับ .38 ค่า GFI เท่ากับ .99 ค่า AGFI เท่ากับ .97 ค่า CFI เท่ากับ .99 ค่า SRMR เท่ากับ .03 และค่า RMSEA เท่ากับ .01 และค่าสัมประสิทธิ์ พยากรณ์ เท่ากับ .50 แสดงว่า ตัวแปรทั้งหมดในโมเดลสามารถอธิบายความแปรปรวนร่วมของพฤติกรรมการกลัวตกเทรนด์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจังหวัดชายแดนไทยกัมพูชาได้ร้อยละ 50 สรุปได้ว่า แรงจูงใจทางวิชาการ ประกอบด้วย แรงจูงใจภายในการขาดแรงจูงใจ และแรงจูงใจภายนอก เป็นปัจจัยหลักของพฤติกรรมการกลัวตกเทรนด์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจังหวัดชายแดนไทยกัมพูชา ส่วนปัจจัยเสริมผ่านแรงจูงใจทางวิชาการ ได้แก่ ลักษณะของนักเรียน ประกอบด้วย เพศ และเกรดเฉลี่ยสะสม