Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในอย่างยั่งยืน โดยบูรณาการกับงานปกติ สำหรับสถาบันการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีของสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย โดยมีจุดประสงค์เฉพาะดังนี้ 1) เพื่อวิเคราะห์สภาพ การประกันคุณภาพภายในและวิเคราะห์ปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานประกันคุณภาพภายใน 2) พัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในอย่างยั่งยืนโดยบูรณาการกับงานปกติ 3) ทดลองใช้และประเมินประสิทธิผลของระบบการประกันคุณภาพภายในอย่างยั่งยืนโดยบูรณาการกับ งานปกติ กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคลากรในสถาบันการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี สังกัดสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย แบ่งเป็นผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน 402 คน และผู้ให้ข้อมูลในการสัมภาษณ์และสนทนากลุ่มจำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามปัจจัยที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานประกันคุณภาพภายในและแนวทางในการประกันคุณภาพภายในอย่างยั่งยืนโดยบูรณาการกับงานปกติ มีลักษณะเป็นแบบมาตรประมาณค่า 5 ระดับ และแบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ ความแปรปรวนทางเดียวและวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้าง โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานประกันคุณภาพภายในมากที่สุด คือ ปัจจัยด้านระบบประกันคุณภาพภายใน รองลงมาคือปัจจัยด้านบริบทองค์กร การปฏิบัติงาน ประกันคุณภาพภายในได้รับอิทธิพลจากปัจจัยด้านบริบทองค์กร และปัจจัยด้านระบบประกันคุณภาพภายใน มีค่าอิทธิพลเท่ากับ 0.45 และ 0.20 ตามลำดับ ปัจจัยด้านระบบประกันคุณภาพภายในได้รับอิทธิพลทางตรงจากปัจจัยด้านบริบทองค์กรและปัจจัยด้านบุคลากร มีค่าอิทธิพลเท่ากับ 0.30 และ 0.43 ตามลำดับ ปัจจัยด้านระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศได้รับอิทธิพลทางตรงจากปัจจัยด้านบริบทองค์กรและปัจจัยด้านผู้บริหาร มีค่าอิทธิพลเท่ากับ 0.52 และ 0.36 ตามลำดับ มาตรฐาน ตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายใน สำหรับสถาบันการศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย 4 มาตรฐาน 25 ตัวบ่งชี้ มาตรฐานและตัวบ่งชี้สำหรับการประเมินคุณภาพภายใน สำหรับสถาบันการศึกษาระดับการศึกษาอาชีวศึกษาประกอบด้วย 4 มาตรฐาน 15 ตัวบ่งชี้ แนวทางในการประกันคุณภาพภายในอย่างยั่งยืนโดยบูรณาการกับงานปกติ พบว่า การพัฒนาความรู้ ความเข้าใจในการประกันคุณภาพให้กับบุคลากรมีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา เป็นด้านผู้นำตระหนักถึงคุณค่าในงานประกันคุณภาพการศึกษาและมีความสามารถในการบริหารองค์กร ผลการประเมินประสิทธิผลของระบบในแต่ละด้าน ด้านละ 66 ข้อ พบว่า ด้านประโยชน์ มีผลประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 64 ข้อ ด้านความเป็นไปได้มีผลประเมินอยู่ในระดับ มากที่สุด จำนวน 22 ข้อ ด้านความเหมาะสม พบว่า ผลประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 34 ข้อ และด้านความถูกต้อง มีผลประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 54 ข้อ นอกจากนั้น ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก