Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาระบบการเรียนแบบภควัตภาพในกิจกรรมเสริมหลักสูตรด้านดนตรีไทย 2) ทดสอบประสิทธิภาพชุดการเรียนตามระบบการเรียนแบบ ภควัตภาพ ฯ 3) เปรียบเทียบคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียนผ่านระบบการเรียนแบบภควัตภาพ ฯ 4) ศึกษาความพึงพอใจของนิสิตที่มีต่อระบบการเรียนแบบภควัตภาพ ฯ และ 5) ประเมินรับรองระบบการเรียนแบบภควัตภาพ ฯ จากผู้ทรงคุณวุฒิ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) ผู้เชี่ยวชาญ ด้านเทคโนโลยีการศึกษาและด้านดนตรีไทย จำนวน 10 คน 2) นิสิตระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เข้าร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตร ด้านเสริมสร้างสมรรถนะ (กิจกรรมพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม) กับชมรมดนตรีไทยจำนวน 40 คน ได้มาด้วยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster random sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) ระบบการเรียนแบบภควันตภาพ ในกิจกรรมเสริมหลักสูตรด้านดนตรีไทยสำหรับนิสิตปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2) แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน 3) แบบประเมินทักษะปฏิบัติการตีฆ้องวงใหญ่ขั้นพื้นฐาน 4) แบบสอบถามความพึงพอใจต่อระบบการเรียนแบบภควัตภาพ ฯ และ 5) แบบประเมินรับรองระบบการเรียนแบบภควัตภาพ ฯ จากผู้ทรงคุณวุฒิ สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน, E1/ E2 และ t-test ผลการวิจัย พบว่า 1. ระบบการเรียนแบบภควัตภาพ ฯ ประกอบด้วย 1) บริบท 2) ปัจจัยนำเข้า 3) กระบวนการ ได้แก่ 3.1) การเตรียมความพร้อม 3.2) สอนสาธิตและฝึกปฏิบัติ 3.3) นำเสนอผลงานนิสิต 3.4) ผลผลิต 3.5) ประเมินผล 4) ผลลัพธ์ และ 5) ข้อมูลป้อนกลับเพื่อปรับปรุงระบบ 2. ผลการทดสอบประสิทธิภาพมีประสิทธิภาพของกระบวนการ/ ผลลัพธ์ บทเรียน ที่พัฒนาตามระบบการเรียนแบบภควันตภาพในกิจกรรมเสริมหลักสูตร ฯ (E1/ E2) เท่ากับ 82.24/ 82.50 เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/ 80 3. ความก้าวหน้าในการเรียนจากผลการเปรียบเทียบคะแนนหลังเรียนกับก่อนเรียน ผ่านระบบการเรียนแบบภควันตภาพในกิจกรรมเสริมหลักสูตร ฯ เพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 4. ความพึงพอใจของนิสิตที่มีต่อระบบการเรียนแบบภควันตภาพในกิจกรรมเสริมหลักสูตรด้านดนตรีไทย ฯ อยู่ในระดับความพึงพอใจมากที่สุด 5. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินรับรองระบบการเรียนแบบภควันตภาพในกิจกรรมเสริมหลักสูตรด้านดนตรีไทย ฯ อยู่ในระดับมากที่สุด