Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental research) ทดลอง 4 กลุ่ม มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลของของโปรแกรมการบูรณาการการปรึกษาพหุทฤษฎีทฤษฎีปัญญานิยมและทฤษฎีประสบการณ์-มนุษยนิยม ต่อการลดภาวะซึมเศร้าของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าก่อนการทดลอง หลังการทดลองและระยะติดตามผล กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ ซึ่งมีคะแนนภาวะซึมเศร้าอยู่ในระดับปานกลาง (21-30 คะแนน) ได้จำนวน 48 คน สุ่มกลุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่ม โดยแบ่งเป็น กลุ่มทดลอง จำนวน 3 กลุ่ม กลุ่มละ 12 คน และกลุ่มควบคุม 1 กลุ่ม กลุ่มละ 12 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบวัดภาวะซึมเศร้า ของ Beck (Beck depression inventory) (Beck, 1967) มีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.86 เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ โปรแกรมการปรึกษาพหุทฤษฎีโดยใช้ทฤษฎีปัญญานิยมร่วมกับทฤษฎีประสบการณ์นิยม-มนุษยนิยม (MTP), โปรแกรมการปรึกษาโดยใช้ทฤษฎีปัญญานิยม (CT) และโปรแกรม การปรึกษาโดยใช้ทฤษฎีประสบการณ์นิยม-มนุษยนิยม (EXP) เครื่องมือที่ใช้ในกลุ่มควบคุม คือ โปรแกรม การปรึกษาโดยใช้ทฤษฎีการปรับความคิดและพฤติกรรม (CBT) โดยกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมได้รับ โปรแกรมการปรึกษา 2 สัปดาห์ต่อครั้ง จำนวน 9 ครั้ง ครั้งละ 60 นาที ติดตามผลหลังการทดลอง 2 สัปดาห์ จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของข้อมูลระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม วิเคราะห์โดยใช้ สถิติพื้นฐานหาค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) จากนั้นใช้สถิติวิเคราะห์ ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำประเภทหนึ่งตัวแปรระหว่างกลุ่มและหนึ่งตัวแปรภายในกลุ่ม (Repeated-measure analysis of varience: One between-subjects variable and within-subject variable) (Howell, 2007, p. 461) และเมื่อพบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยทำการทดสอบด้วยวิธีการทดสอบรายคู่แบบวิธีการของบอนเฟอโรนี่ (Bonferroni method) ผลการวิจัย พบว่า ผลการปรึกษารายบุคคลโดยใช้ปรึกษาแบบพหุทฤษฎีส่งผลให้ภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยต่ำกว่าวิธีแบบปัญญานิยม กับประสบการณ์นิยม-มนุษยนิยม แต่ไม่แตกต่างจากวิธีของการปรับความคิด และพฤติกรรมที่นัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 การปรึกษารายบุคคลโดยใช้ปรึกษาแบบพหุทฤษฎี แบบปัญญานิยม กับประสบการณ์นิยม-มนุษยนิยม หลังการปรึกษา และระยะติดตามผล พบว่า มีภาวะซึมเศร้าต่ำกว่าระยะก่อนการทดลองเมื่อเวลาเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และพบว่า ผลการปรึกษารายบุคคล โดยใช้การปรึกษาแบบพหุทฤษฎีส่งผลต่อภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วย ในระยะติดตามผลดีกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิธีการปรึกษา และระยะเวลา อย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ .05