Abstract:
งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาความต้านทานการแทรกซึมคลอไรด์ของคอนกรีตที่เผชิญสิ่งแวดล้อมทะเล 4 ปีและ 5 ปีโดยพิจารณาผลกระทบของชนิดปูนซีเมนต์อัตราส่วนวัสดุประสาน และอัตราส่วนน้ำต่อ วัสดุประสานของคอนกรีตต่อความต้านทานการแทรกซึมคลอไรด์ของคอนกรีต พร้อมทั้งศึกษาการเกิดสนิมของเหล็กเสริมในคอนกรีต และกำลังอัดคอนกรีตด้วยเพื่อมุ่งหาส่วนผสมคอนกรีตที่คงทนต่อการแทรกซึมคลอไรด์และป้องกันการเกิดสนิมของเหล็กเสริม จากผลการศึกษาพบว่า คอนกรีตที่ใช้ปูนซีเมนต์ปอซโซลาน เถ้าลอยแทนที่บางส่วนของปูนซีเมนต์และปูนซีเมนต์ตะกรันถลุงเหล็กมีความต้านทานการแทรกซึมคลอไรด์ในสิ่งแวดล้อมทะเลดีที่สุด โดยมีสัมประสิทธิ์การแพร่คลอไรด์ที่ต่ำมากและเหล็กเสริมภายในคอนกรีตเป็นสนิมน้อย คอนกรีตที่ใช้เถ้าลอยแทนที่ปูนซีเมนต์บางส่วนร้อยละ 60 และมีอัตราส่วนน้ำต่อวัสดุประสาน 0.40 มีการเกิดสนิมของเหล็กเสริมต่ำมาก คอนกรีตที่ใช้ผงหินปูนแทนที่ปูนซีเมนต์บางส่วนมีความสามารถต้านทานการแทรกซึมคลอไรด์และกำลังอัดน้อยกว่าคอนกรีตที่ใชเถ้าลอยและผงหินปูนแทนที่ปูนซีเมนต์บางส่วน คอนกรีตที่ใช้เถ้าลอยร้อยละ 35 และผงหินปูนร้อยละ 5 แทนที่ วัสดุประสาน มีความต้านทานการแทรกซึมคลอไรด์ดีที่สุด โดยมีค่าสัมประสิทธิ์การแพร่คลอไรด์ต่ำที่สุด และมีการเกิดสนิมของเหล็กน้อยที่สุด และมีค่ากำลังอัดคอนกรีตที่ดีคอนกรีตที่มีส่วนผสมของเถ้าลอยมีขนาดโพรงช่องว่างเฉลี่ยลดลงและความพรุนเพิ่มขึ้น แต่มีความสามารถต้านทานการแทรกซึมคลอไรด์ได้กว่าคอนกรีตซีเมนต์ล้วน